​ถึงเวลา “พระรอง” ทำเงิน

img

เท่าที่ได้สัมผัสการทำงานกว่า 9 เดือนที่ผ่านมา พูดได้ว่า “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” น่าจะเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญกับ “พระรอง” เท่า ๆ กับ “พระเอก” ชนิดที่ไม่มาก ไม่น้อยไปกว่ากัน  
         
ก็อย่างที่รู้กัน ใคร ๆ ก็สนใจ “พระเอก” มากกว่า “พระรอง” ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในทุกวงการ
         
แต่ใน “กระทรวงพาณิชย์” นายภูมิธรรม ประกาศว่า ไม่ว่าจะเป็นพระเอกหรือพระรอง ก็ควรจะได้รับ “ความสำคัญ” และได้รับการ “ดูแล” อย่างเท่าเทียมกัน เพราะวันใดวันหนึ่ง “พระรอง” อาจจะขยับขึ้นเป็น “พระเอก” ก็ได้
         
พูดมาซะขนาดนี้แล้ว ขอเข้าเรื่องเลยละกัน
         
ที่ผ่านมา การดูแล “พืชเกษตรเศรษฐกิจ” จะให้ความสำคัญกับพืชเกษตรสำคัญ อย่าง “ข้าว-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ยางพารา” เป็นหลัก โดยรัฐบาลจะตั้ง “คณะกรรมการ” กำกับดูแลเป็นรายตัว และมีการออก “มาตรการ” กำกับดูแลในแต่ละปี เพื่อดูแลเกษตรกร

ส่วน “พืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง” ก็มีมาตรการดูแล แต่ส่วนใหญ่เป็นมาตรการรวม ๆ หรือหาก “จำเป็น” ก็จะมีมาตรการแก้ไข “ปัญหาเฉพาะหน้า” กรณีผลผลิต “ล้นตลาด” หรือ “ราคาตกต่ำ” เกิดขึ้น  

อีกเรื่อง ก็คือ “การส่งออก” ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดที่เป็นพระเอก จะเป็น “ตลาดหลัก-ตลาดรอง” จึงมีนโยบาย “รักษาตลาดเดิม-เสริมตลาดใหม่” ออกมาก่อนหน้านี้ ทำให้มาตรการ “ส่งเสริม” และ “ผลักดัน” ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งไปทางนี้
         
ขณะที่ “สินค้าส่งออก” ที่เป็นพระเอก ก็กระจุกตัวอยู่ที่ “สินค้าหลัก” ไม่กี่ตัว มาตรการส่งเสริมก็เลยมา “กระจุกตัว” อยู่ที่สินค้าหลักตามไปด้วย ส่วนสินค้าส่งออก “ระดับรอง” ก็ไม่ค่อยได้รับการดูแล ถ้าอยากจะส่งออก ก็ต้องพึ่งพาตัวเองซะเป็นส่วนใหญ่
         
แต่ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ กำลังจะ “หมดไป” เพราะนายภูมิธรรม มีนโยบายชัดเจนว่าต่อไปนี้ ต้องดูแล “พระรอง” แบบเท่าเทียม ไม่ใช่อะไร ๆ ก็ทุ่มไปที่พระเอกทั้งหมด  



เริ่มจาก “พืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง” วันนี้ ได้มีการกำหนด “มาตรการดูแล” ออกมาแล้ว มีทั้งสิ้น 8 มาตรการ ได้แก่ 1.การกระจายออกนอกแหล่งผลิต 2.การเชื่อมโยงต้นทาง-ปลายทาง 3.การทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า 4.การผลักดันส่งออก 5.การส่งเสริมการแปรรูป 6.การรณรงค์บริโภค 7.การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง และ 8.ความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตร
         
เผื่อใครยังไม่รู้ พืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง มีทั้งสิ้น 18 ชนิด แยกเป็น “ผลไม้ 11 ชนิด” ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย สับปะรด ลิ้นจี่ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะยงชิด มะม่วง “ผัก 4 ชนิด” ได้แก่ มะนาว มะเขือเทศ ฟักทอง พริกขี้หนูจินดา และ “พืชสามหัว 3 ชนิด” ได้แก่ หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม
         
นายภูมิธรรม บอกว่า พืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรองหลายตัว ไม่มีมาตรการดูแล ทำให้ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด มักจะประสบปัญหาด้านราคาตกต่ำเกือบทุกปี แต่ปีนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการเชิงรุก เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ควบคู่ไปกับการดูแลพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ
         
สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ทั้งพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวหลักและตัวรอง จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน โดยพืชเศรษฐกิจหลัก จะมีคณะกรรมการดูแล มีการกำหนดมาตรการดูแล ส่วนพืชเศรษฐกิจตัวรอง แม้จะไม่มีคณะกรรมการดูแลเฉพาะ แต่จะมีมาตรการดูแลตั้งแต่ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด ไปจนจบฤดูกาล
         
ล่าสุดได้ “นำร่อง” โดยดึง “เครือข่ายภาคเอกชนยักษ์ใหญ่” กว่า 10 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือข่าย 18 บริษัท อาทิ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ผู้ผลิตสินค้า ค้าปลีก-ค้าส่ง โรงแรม หมู่บ้าน-คอนโด ปั้มน้ำมัน สายการบิน แพลตฟอร์ม อุตสาหกรรมแปรรูป-ส่งออก และนิคมอุตสาหกรรม เข้ามารับซื้อ “ผลไม้ ผัก และพืช 3 หัว” ปริมาณรวมกว่า 313,000 ตัน และยังมีภาคเอกชนรายใหญ่อื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาช่วยเชื่อมโยงรับซื้อเพิ่มเติมอีกในอนาคต
         


ส่วน “การผลักดันการส่งออก” นายภูมิธรรมขอให้มุ่งเจาะตลาด “เมืองรอง” เพิ่มมากขึ้น โดยจะผลักดันการลงนาม MOU เพื่อร่วมมือการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเมืองรองเป้าหมาย หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ทำ MOU ไปแล้ว 10 ฉบับ ได้แก่ ไห่หนาน กานซู่ เซินเจิ้น ยูนนาน (จีน) วากายามา โคฟุ (ญี่ปุ่น) รัฐเตลังคานา (อินเดีย) ปูซาน คยองกี (เกาหลีใต้) วอร์ซอ (โปแลนด์)   
         
การผลักดันการส่งออก “สินค้าระดับรอง” นายภูมิธรรม มองว่า ปัจจุบันการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่แค่บางสินค้า ทำให้การส่งออกของไทยที่ผ่านมา ไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องผลักดันสินค้าศักยภาพระดับรอง และยังมีมูลค่าส่งออกน้อย แต่เป็นสินค้าที่เติบโตได้ดี มีความต้องการจากตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวได้
         
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเกษตร อาทิ กาแฟ กล้วยไม้ สารสกัดจากสมุนไพร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ ผลิตภัณฑ์จากข้าว ผักผลไม้กระป๋อง ผักผลไม้ แปรรูป น้ำผลไม้ น้ำผัก ไอศกรีม คราฟต์ช็อกโกแล็ต และสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ บำรุงผิว เครื่องใช้ในครัวเรือน ของตกแต่ง

ทั้งนี้ นายภูมิธรรม ได้มอบ “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” ศึกษาแนวทาง หรือกลยุทธ์การผลักดันสินค้าระดับรองแล้ว 

ตอนนี้ กำลังรอผลสรุป “รายการสินค้า” และ “มาตรการขับเคลื่อน” เพื่อส่งต่อให้ “ทีมพาณิชย์” นำไปใช้ดำเนินการ
         
เห็นนโยบายการทำงานแบบนี้แล้ว
         
ดีใจแทน “เกษตรกร” และ “ผู้ประกอบการไทย” ที่ได้รับการดูแล มีโอกาสเพิ่มรายได้ และขยายโอกาสทางการตลาดอย่างเท่าเทียม
         
ไม่ใช่รักแต่ “พระเอก” ไม่สน “พระรอง” เหมือนที่ผ่าน ๆ มา
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง