สัปดาห์ที่ผ่านมา มี “ข่าวร้าย” ที่สร้างความ “เศร้าใจ-เสียใจ” ให้กับชาวกระทรวงพาณิชย์ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ การจากไปอย่างสงบของ “นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2567 ภายหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.2567
ทุก ๆ ท่าน คงทราบข่าวและสาเหตุกันแล้ว ก็ขอผ่าน ไม่พูดถึงอีก
แต่ที่อยากจะกล่าวถึง ก็คือ “คุณงาม-ความดี” ของนายกีรติ หรือปลัดจั่น ของพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวกระทรวงพาณิชย์ และยังเป็นพี่ เป็นน้อง ของนักข่าวสายกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย
นายกีรติ เข้าดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 จะเกษียณในปี 2571 เพราะเกิดวันที่ 25 พ.ย.2510 จึงได้แถมอีก 1 ปี
ตอนที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ นายกีรติ ได้กำหนด “นโยบายการขับเคลื่อนงานกระทรวงพาณิชย์” ไว้จำนวน 9 ข้อ ได้แก่
1.ลดภาระค่าครองชีพ โดยกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการให้เป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค
2.บริหารจัดการสินค้าเกษตร โดยใช้ตลาดนำการผลิต
3.การเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน
4.เร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอ และผลักดันการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ
5.พัฒนาระบบการบริการประชาชน โดยใช้ระบบออนไลน์ทั้งหมด
6.ส่งเสริมและพัฒนา SME และ MSME
7.เร่งรัดการจดทะเบียน การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา และการเพิ่มมูลค่าสินค้า GI
8.ส่งเสริมภาคการผลิต บริการผ่านการใช้ Soft Power
9.Back Office เพื่อรองรับภารกิจที่ประชาชนคาดหวังจากกระทรวงพาณิชย์ เพราะปัจจุบันนี้ มีกำลังคนไม่เพียงพอ
ตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ที่อยู่ในตำแหน่ง นายกีรติได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายจนประสบ “ความสำเร็จ” ได้เกือบจะเต็ม 100%
เริ่มตั้งแต่ “การลดภาระค่าครองชีพ” สามารถบริหารจัดการราคาสินค้าและบริการให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ท่านกลางวิกฤต ทั้งสงคราม ราคาน้ำมัน ภัยแล้ง แต่ก็ผ่านมาได้
“การบริหารจัดการสินค้าเกษตร” สามารถกำกับดูแลสินค้าเกษตรสำคัญ ให้ราคาทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และมีการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรได้เป็นจำนวนมาก
“การส่งออกและการค้าชายแดน” สามารถพลิกฟื้นส่งออกปี 2566 จากติดลบ เหลือติดลบเพียง 1% จากที่หลาย ๆ ฝ่ายประเมินว่าจะติดลบ 2% หรือมากกว่า ซึ่งเป็นผลจากการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการส่งออกและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า
“การเจรจาเอฟทีเอ” สามารถปิดดีลเอฟทีเอไทย-ศรีลังกา ถือเป็นฉบับที่ 15 ของไทย และยัง “นับหนึ่ง” เปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเอฟทีเอฉบับใหม่ ยังไม่รวมฉบับที่ค้างการเจรจา และใกล้จะประสบความสำเร็จอีกหลายฉบับ ทั้งไทย-เอฟตา ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) อาเซียน-แคนาดา ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน เป็นต้น
“การพัฒนาระบบบริการประชาชน” มีความคืบหน้าเกือบทุกกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการนำระบบไอที นำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเกือบจะทุกบริการสามารถใช้บริการผ่านออนไลน์ได้แล้ว
“การส่งเสริมและพัฒนา SME และ MSME” ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนตัวเล็กให้มีโอกาสเติบโต มีโอกาสทางการตลาด ทั้งในประเทศและส่งออก
“การเร่งจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา” มีการพัฒนาระบบการจดทะเบียนให้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และผลักดันการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้รวม 195 สินค้า
“การขับเคลื่อน Soft Power” มีการขับเคลื่อนอาหาร ร้านอาหารไทย สุขภาพ ความงาม สินค้าอัตลักษณ์ ดิจิทัลคอนเทนต์
สุดท้าย “การเพิ่มกำลังคน” เป็นเรื่องที่นายกีรติให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมองว่า อนาคตกระทรวงพาณิชย์จะมีภารกิจที่มากขึ้น เข้มข้นขึ้น แต่กำลังคนมีไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มกำลังคนให้เพียงพอกับงาน
เรื่องนี้ เป็นเรื่องเดียวที่ยัง “ไม่ประสบความสำเร็จ” แต่มีความ “คืบหน้า” โดยมีการจัดทำแผนความต้องการใช้กำลังคน “งานไหน-ภารกิจอะไร” ออกมาแล้ว ที่เหลือก็เป็นขั้นตอนการขอเพิ่มกำลังคน แต่ติดที่ต้องได้รับไฟเขียวจาก กพ.ก่อน
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับคน นายกีรติมีแนวคิดที่จะดึงคนรุ่นใหม่ หรือระดับเจ้าหน้าที่ ๆ เคยไปอยู่ต่างประเทศ ให้ไปทำงานในสำนักงานพาณิชย์จังหวัด โดยมี “สิ่งจูงใจ” ให้ซีขึ้นไวกว่าปกติ เพื่อให้นำความรู้-ประสบการณ์ไปช่วยพัฒนาในส่วนภูมิภาค
และยังมี “โปรเจกต์” ที่จะทำอีกมากมาย แต่ก็ต้องมา “สะดุด-หยุดลง” เสียก่อน
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่า “งานไหน-โครงการอะไร” ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน “ปลัดพาณิชย์คนใหม่” ที่จะมาสานงานต่อ และตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร ก็ขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป เพราะหลายเรื่องวางรากฐานไว้ดีแล้ว
ส่วนพี่จั่น ขอให้พี่ไปสู่สุคติ หมดทุกข์ หมดห่วง
“คุณงาม-ความดี” ที่ทำไว้ จะคงอยู่
และอยู่ใน “ความทรงจำ” ของผู้ที่รัก ผู้ที่รู้จัก “กีรติ รัชโน” ตลอดไป
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง