
“กระทรวงพาณิชย์” ประกาศตัวเลข “การส่งออก” เดือน ก.ค.2566 อย่างเป็นทางการไปแล้ว ทำได้มูลค่า 22,143.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.2% “การนำเข้า” มีมูลค่า 24,121 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.1% ขาดดุลการค้า มูลค่า 1,977.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วน “ยอดรวม 7 เดือน” ของปี 2566 ทำได้มูลค่า 163,313.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 5.5%
หากดูสถิติย้อนหลัง พบว่า การส่งออกของไทยขยายตัวติดลบติดต่อกันมาแล้ว 10 เดือน นับตั้งแต่ เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.2% พ.ย.2565 ลด 5.6% ธ.ค.2565 ลด 14.3% ม.ค.2566 ลด 4.6% ก.พ.2566 ลด 4.8% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย.2566 ลด 7.7% พ.ค.ลด 4.6% มิ.ย. ลด 6.5%
เห็นตัวเลขแบบนี้ มองแล้วปีนี้ “เป้าส่งออก 1-2%” คงลุ้นได้ยาก
เพราะการจะให้ยอดส่งออกทั้งปีกลับมาเป็นบวกได้ การส่งออกแต่ละเดือนนับจากนี้ไป (ส.ค.-ธ.ค.) ถ้าได้เฉลี่ยเดือนละ 24,800 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะขยายตัว 0% แต่ถ้าได้เฉลี่ยเดือนละ 25,100 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะขยายตัว 0.5%
ดูแล้ว “ยาก” แต่ก็ใช่ว่า “จะเป็นไปไม่ได้”
เหตุผลที่ “กระทรวงพาณิชย์” ยังมี “ความหวัง” และ “ขอลุ้น” ให้การส่งออกทั้งปีเข้าเป้า ก็เพราะในช่วงที่เหลือของปีนี้ อีกราว ๆ 4 เดือน “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นหน่วยงาน “ขับเคลื่อน” การส่งออกของไทย ยัง “ไม่ถอดใจ” และ “ขอทำให้ดีที่สุด” ก่อน
โดยได้เตรียมกิจกรรม “ส่งเสริม” และ “ผลักดัน” การส่งออกไว้อีก 44 โครงการ 100 กว่ากิจกรรม เริ่มตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2566
กิจกรรมที่ว่า มีทั้ง “คณะผู้แทนการค้า-กิจกรรมส่งเสริมการขาย-กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ-การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า” จะเน้นการบุกเจาะตลาด พุ่งเป้า “ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียใต้ อาเซียน และจีน”
สำหรับ “งานแสดงสินค้า” ที่สำคัญ เช่น CAEXPO 2023 ที่หนานหนิง เดือนก.ย.2566 CIIE 2023 ที่เซี่ยงไฮ้ เดือน พ.ย.2566 และ Anuga ที่เยอรมนี เดือน ต.ค.2566 คาดว่ามี “โอกาส” ที่จะเพิ่มยอดการส่งออกได้อีกมาก
นอกจากนี้ จากการที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ “หารือ” และ “ฟังเสียง” จากผู้ส่งออกโดยตรง ก็พบว่า การส่งออกหลายกลุ่ม มีแนวโน้ม “เป็นบวก”
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเกษตร “ข้าว ผลไม้ ประมง” เอกชนมองว่าน่าจะบวกได้ประมาณ 2% ยกเว้น “มันสำปะหลัง” ที่มีปัญหาผลผลิตขาดแคลนจากโรคใบด่าง และภัยแล้ง
สินค้าอุตสาหกรรม “อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน” ที่มีสัดส่วนประมาณ 30% ของการส่งออกรวม จะบวกได้ 3-5% “เครื่องจักรและส่วนประกอบ” เป็นบวก “เครื่องประดับ” น่าจะบวกแรง 10% “สินค้าไลฟ์สไตล์” บวก 2-3% แต่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ คาดว่าส่งออกจะติดลบ
“นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)” บอกว่า จะเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออกอย่างเต็มที่ เต็มสูบ และทำทุกทาง เพื่อให้ตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นให้ได้ แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่ายาก ที่ปีนี้จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้
หากดู “เป้าส่งออก” ที่หน่วยงานสำคัญ ๆ ประเมินไว้ เช่น “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถานบัน (กกร.)” คาดว่า จะติดลบ 2% ดีสุดไม่ขยายตัว คือ 0% “สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)” คาดติดลบ 1.3% ดีสุดลบ 0.3% “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)” คาดติดลบ 1.8%
ส่วน “กระทรวงพาณิชย์” ตอนนี้ยังคง “ยึด” ตัวเลขเป้า 1-2% ไว้เป็น “เป้าทำงาน” จะได้หรือไม่ได้ ก็ถือว่าทำเต็มที่แล้ว
นายภูสิตกล่าวว่า นอกจาก 44 โครงการ กว่า 100 กิจกรรม ที่จะดำเนินการ กรมยังมี “แนวคิด” ที่จะผลักดันให้ “ทูตพาณิชย์” ของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ 58 แห่งทั่วโลก ทำตัวเป็น “KOL”
KOL ที่ว่า คือ ผู้ที่มีความน่าเชื่อถือในเรื่องต่าง ๆ จนสามารถแนะนำ และทำให้ผู้คนสนใจในเรื่องนั้น ๆ หรือ Key Opinion Leader
หรือเอาให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ให้ทำ “ไลฟ์สด” ทำ “รีวิวสินค้า” ทำ “แนะนำสินค้า” หรือทำอะไรก็ได้ ที่เป็นการทำให้ผู้บริโภคในประเทศที่ตนเองประจำอยู่ รู้จัก”สินค้า” และ “บริการ” ของไทย โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“ตอนนี้ก็มีทูตพาณิชย์บางคน มีเจ้าหน้าที่ในสำนักงานทูตพาณิชย์บางแห่ง เริ่มทำตัวเป็น KOL กันแล้ว มีการไลฟ์สดแนะนำสินค้าไทย แนะนำช่องทางการซื้อสินค้าไทย และกำลังคิดว่า จะกำหนดให้เป็น KPI หรือดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการทำงาน โดยให้เป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับวัดผลการทำงานของทูตพาณิชย์ ถ้าทำ ก็ได้คะแนนเพิ่ม”นายภูสิตกล่าว
นี่คืออีกหนึ่ง “มิติใหม่” ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานแบบ “ทันโลก”
ไม่ใช่การ “ตั้งรับ” แบบเดิม ๆ “ขายสินค้าไทย” แบบเดิม ๆ
ตอน “เริ่มต้น” อาจจะยัง “ไม่เห็นผล” อะไรมาก แต่เชื่อว่า “ในอนาคต” เมื่อทูตพาณิชย์ที่เป็น KOL เริ่มเป็นที่ “รู้จัก” เริ่มมีแฟน “ติดตาม” มากขึ้น
ตอนนั้น เผลอ ๆ เอาสินค้าอะไร “มาขาย” เอาสินค้าอะไรมา “แนะนำ” อาจจะขายดีเป็น “เทน้ำเทท่า” ก็ได้
“คิดใหม่ ทำใหม่” มาถูกทางแล้ว
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง