​ลุ้นส่งออกข้าวทะลุ 8 ล้านตัน

img

การส่งออกข้าวไทย” ช่วง 5 เดือนปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ทำได้แล้ว “ปริมาณ 3.47 ล้านตัน” เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 2.74 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 26.64%

โดยมูลค่าเป็น “เงินบาท” ทำได้ 64,322 ล้านบาท แต่ถ้าเป็น “เงินเหรียญสหรัฐ” ทำได้ 1,896 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 47,785 ล้านบาท หรือ 1,452 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 34.61% และ 30.58% ตามลำดับ
         
ส่วนตัวเลขเดือนมิ.ย.2566 ที่เพิ่งจบไป “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” คาดว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7 แสนตัน เพราะผู้ส่งออกมี “สัญญาส่งมอบ” ให้กับผู้นำเข้าทั้งในอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
         
เห็นตัวเลขแล้ว น่าจะเป็นสัญญา “บวก” สำหรับการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ที่มี “ทิศทาง” ดีขึ้นต่อเนื่อง  

ทั้งนี้ หากดู “สถิติย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา” นับตั้งแต่ปี 2561 ที่ส่งออกได้ 11.2 ล้านตัน จากนั้น “ยอดส่งออก” ก็ปรับตัว “ลดลง” มาตลอด โดยปี 2562 ทำได้ปริมาณ 7.58 ล้านตัน ปี 2563 ปริมาณ 5.72 ล้านตัน เป็นสถิติ “ต่ำสุดในรอบ 20 ปี” ต่อมาปี 2564 เริ่ม “ดีขึ้น” ทำได้ปริมาณ 6.11 ล้านตัน ปี 2565 ขยับเป็นปริมาณ 7.69 ล้านตัน

เดิมที “กระทรวงพาณิชย์” ได้หารือกับ “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” และตั้ง “เป้าหมาย” การส่งออกข้าวปี 2566 เอาไว้ที่ปริมาณ 7.5 ล้านตัน เมื่อช่วงเดือน ม.ค.2566
         
ตอนนั้น “ประเมิน” กันว่า น่าจะ “ทำได้” เพราะมี “ความต้องการ” ซื้อข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีแผน “ผลักดันส่งออก” ทั้งการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2023 (TRC 2023) การจัด “คณะผู้แทนการค้า” ภาครัฐและเอกชนเดินทางไปเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญ การจัด “ประชาสัมพันธ์ข้าวไทย” ในตลาดสำคัญ และการรักษา “ตลาดเดิม” และหา “ตลาดใหม่
         


จากนั้น “กรมการค้าต่างประเทศ” ได้เดินหน้า “ขับเคลื่อน” และ “ผลักดัน” การส่งออกข้าวตามแผนอย่างเต็มที่ ทั้งพาคณะไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า “รายเดิม-รายใหม่” การนำข้าวไทยไปจัดโชว์ในงาน “แสดงสินค้า” ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแนะนำข้าวไทยและกระตุ้นการซื้อขาย การจัด TRC 2023 สัญจรไปต่างจังหวัด การแก้ไขปัญหา “การปลอมปนข้าวหอมมะลิไทย” ในจีน การเดินหน้าคุ้มครอง “เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย” ในต่างประเทศ
         
นอกจากนี้ ยังได้จัดมอบรางวัล “การประกวดข้าวพันธุ์ใหม่” หลังได้ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยผลักดันให้เกิดขึ้นได้แล้วรวม 9 สายพันธุ์ ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา (2564-65) ถ้ารวมกับพันธุ์ข้าวที่ “กรมการข้าว” วิจัยและพัฒนาอีก 12 สายพันธุ์ ก็มี “พันธุ์ข้าวใหม่” เกิดขึ้นแล้ว 21 สายพันธุ์ เกินเป้าที่ตั้งไว้ว่าภายใน 5 ปี (2563-67) จะเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่อย่างน้อย 12 พันธุ์
         
ไม่เพียงแค่นั้น กรมการค้าต่างประเทศยังได้ผนึกกำลังกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นำคณะผู้ส่งออกข้าวเดินทางไปกระชับ “ความสัมพันธ์” และ “ขยายตลาด” สินค้าข้าวกับ “ฮ่องกง-จีน” เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา
         
ที่ฮ่องกง มั่นใจว่า ทั้งปี 2566 ไทยจะยังครอง “ส่วนแบ่ง” ตลาดข้าวในฮ่องกงได้สูงถึง 60% เหมือนเดิม และทั้งปี น่าจะส่งออกได้ 1.7-1.8 แสนตัน
         
ที่จีน ได้เตรียมร่วมมือกับ “ทูตพาณิชย์” ทำการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อสร้างการรับรู้ แนะนำ “วิธีดู” ข้าวไทยแท้เป็นอย่างไร “มาตรฐาน” เป็นอย่างไร “ตราสีเขียว”เป็นแบบไหน เพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคข้าวไทยเพิ่มขึ้น และมั่นใจว่า “ข้าวไทย” ยังมีโอกาสส่งออกได้อีกมาก
         
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ มั่นใจว่า จะทำได้ “เกินเป้า

เพราะมี “ปัจจัยบวก” มากมาย ทั้ง “ค่าเงินบาท” ที่อ่อนค่ากว่าปีก่อน ทำให้ข้าวไทย “แข่งขัน” ได้ดีขึ้น และราคาปัจจุบัน “ใกล้เคียง” กับข้าวเวียดนาม ทำให้คู่ค้าตัดสินใจได้ “ไม่ยาก



และยังมี “ความต้องการซื้อข้าว” จากตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ที่เกิดภาวะ “ภัยแล้ง” ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับ “ความเสียหาย” ทั่วโลกจึงมีความต้องการ “ซื้อข้าว” เพิ่มขึ้น

รวมถึงปัญหาเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร” ที่เป็นข้อกังวลของหลายประเทศ ก็ยิ่งทำให้มีความต้องการซื้อข้าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นายรณรงค์ บอกว่า มีแผนที่จะ “จัดคณะผู้แทนการค้า” ภาครัฐและเอกชน เดินทางไปพบปะกับคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง
         
เริ่มจากเดือน ก.ค.2566 ไป “ฟิลิปปินส์” จะไปหาทาง “ทวงคืน” ตลาดข้าวกลับคืนมา เพราะฟิลิปปินส์ เคยเป็นตลาดข้าวของไทย
         
จากนั้นเดือน ส.ค.2566 จะไป “มาเลเซีย” ไปเปิดตลาด “ข้าวขาว” ต่อด้วย “สิงคโปร์” เปิดตลาด “ข้าวหอมมะลิไทย” และไป “ญี่ปุ่น” เปิดตลาด “ข้าวขาว” และ “ข้าวหอมมะลิไทย” สุดท้าย “อินโดนีเซีย” ไปหารือเรื่องการ “ขายข้าว” เพราะอินโดนีเซียมีความต้องการซื้อข้าวเพิ่มขึ้น
         
เมื่อถามว่า สรุปสุดท้าย ปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้เท่าใด นายรณรงค์ ตอบอย่างมั่นใจว่า “น่าจะเกิน 8 ล้านตัน
         
ดูทรงแล้ว ทั้ง “ปัจจัยบวก” เอื้อ ทั้งการทำงาน “เชิงรุก” 

เป้าหมาย “การส่งออกข้าวไทย” ทั้งปี 2566 ที่ประเมินไว้ว่าจะ “ทะลุ” ปริมาณ 8 ล้านตัน

คงไม่ใช่เรื่องที่ “ไกลเกินจริง

ส่วน “จะเกิน” 8 ล้านตันไป “มากน้อย” แค่ไหน

ต้อง “ติดตามดู” กันต่อไป
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง