​ประกันรายได้จบสวย

img

ตอนนี้ คงมี “คำถาม” กันมากในหมู่ “เกษตรกร” ผู้ปลูกสินค้าเกษตร
         
จะมี “มาตรการอะไร” ที่จะเข้ามา “ดูแล” สินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ทั้ง “ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา” หลังจากจบ “โครงการประกันรายได้
         
เพราะตอนนี้ “รัฐบาลใหม่” ยังไม่มา “รัฐบาลเก่า” ก็ทำอะไรมากไม่ได้
         
เรียกว่าอยู่ในช่วง “สุญญากาศ
         
แต่ก็ยังดี ที่ประกันรายได้ “ข้าว-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ยางพารา” ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการได้แล้ว ตอนนี้ก็อยู่ระหว่าง “การดำเนินการ”  
         
เท่ากับว่ายังมี “หลักประกัน” ให้กับเกษตรกร จนกว่าจะจบโครงการ
         
ส่วน “ปาล์มน้ำมัน-มันสำปะหลัง” แม้จะผ่านคณะกรรมการที่ “รับผิดชอบ” แล้ว แต่ยังไม่ผ่าน ครม. ก็เท่ากับว่า “โครงการปีที่ 4” ไม่ได้ไปต่อ
         
แต่ก็ “ไม่เสียหาย” เพราะตอนนี้ ราคาทั้ง “ปาล์ม-มัน” สูงมาก สูงกว่าที่ประกันรายได้ด้วยซ้ำ “มี” หรือ “ไม่มี” ประกันรายได้ ก็ไม่เป็นไร
         
สำหรับความคืบหน้าการจ่าย “ส่วนต่าง” ในโครงการ “ประกันรายได้ปีที่ 4” มีการใช้ “งบประมาณ” ถึงช่วงกลางเดือน พ.ค.2566 แล้วจำนวน 8,149 ล้านบาท “น้อยกว่า” งบประมาณที่ตั้งไว้ 33,357 ล้านบาท หรือมีเงินเหลือที่ “ไม่ได้ใช้” สูงถึงกว่า 25,000 ล้านบาท
         
แยกเป็น “ข้าว” ใช้งบประมาณไป 7,866 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 18,700 ล้านบาท
         
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ใช้งบประมาณไป 0 บาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 716 ล้านบาท
         


ยางพารา” ใช้งบไป 282 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 7,643 ล้านบาท   
         
ส่วน “มันสำปะหลัง” ตั้งงบไว้ 3,164 ล้านบาท และ “ปาล์มน้ำมัน” ตั้งงบไว้ 3,133 ล้านบาท
         
ตอนนี้ ข้าว มีการ “จ่ายเงินส่วนต่าง” แล้ว 32 งวด เหลืองวดที่ 33 ที่จะประกาศวันที่ 26 พ.ค.2566 เป็น “งวดสุดท้าย” ก็จะจบโครงการ คาดว่าจะใช้เงินราว ๆ 7,900 ล้านบาท เหลือ “คืนหลวง” 1 หมื่นกว่าล้านบาท
         
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เคาะจ่ายส่วนต่างไปแล้ว 7 งวด แต่ “ไม่ต้องจ่าย” ซักบาท เพราะราคา “เกินเพดาน” เหลืออีก 5 งวด คาดว่า จะไม่ต้องจ่ายเช่นเดียวกัน เหลือเงินคืนหลวงเต็ม ๆ 716 ล้านบาท
         
ยางพารา ตอนนี้กำลังทยอย “โอนเงิน” ส่วนต่างให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอยู่ คาดว่า จะโอนจบภายในเดือนพ.ค.2566 นี้ และจบโครงการ คาดว่า ไม่น่าจะเหลือเงินคืนหลวง
         
สำหรับมันสำปะหลัง งบ 3,164 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน งบ 3,133 ล้านบาท “ไม่ต้องคืน” เพราะไม่ได้มาอยู่แล้ว
         
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน” สรุปให้ฟังว่า ปัจจุบัน “ราคาข้าว” ส่วนใหญ่ “ใกล้เคียง” หรือ “สูงกว่า” ราคาประกันรายได้ โดย “ข้าวเปลือกหอมมะลิ” ราคา 14,400-14,800 บาท ใกล้ราคาประกัน 15,000 บาท “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่” ราคา 13,500-14,000 บาท เท่ากับราคาประกัน 14,000 บาท “ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี” ราคา 11,000-11,500 บาท สูงกว่าราคาประกัน 11,000 บาท “ข้าวเปลือกเจ้า” ราคา 9,800-10,300 บาท สูงกว่าราคาประกัน 10,000 บาท และ “ข้าวเปลือกเหนียว” สูงกว่าราคาประกัน 12,000 บาท  
         
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว” ราคา 11-12 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สูงกว่าประกันรายได้ 8.50 บาทต่อกก.
         
ปาล์มน้ำมัน” ราคา 5.30-5.80 บาทต่อกก. สูงกว่าประกันรายได้ 4 บาทต่อกก.
         
มันสำปะหลัง เชื้อแป้ง 25%” ราคา 3.35-3.90 บาทต่อกก. สูงกว่าประกันรายได้ 2.50 บาทต่อกก.



ส่วน “คำถาม” ที่ว่า “หากหมด” โครงการประกันรายได้แล้ว จะ “เอาไงต่อ” นายอุดม ตอบว่า มีมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยมาตรการหลัก ๆ เช่น ช่วยเหลือให้ “เกษตรกร” และ “กลุ่มเกษตรกร” เก็บผลผลิตในสต็อกและ “ชะลอการขาย” ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก การ “ผลักดันส่งออก” ในช่วงที่ราคาตลาดโลกปรับเพิ่ม และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ “เข้าไปรับซื้อ” ผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เป็นต้น
         
ทางด้าน “สาเหตุ” ที่ทำให้โครงการประกันรายได้ปีที่ 4 “ประหยัดเงิน” ได้มาก เพราะ “ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ” ปรับตัวสูงขึ้น มาจาก “ความต้องการ” ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น มีการ “ส่งออก” มากขึ้น และราคาตลาดโลกก็ “ทรงตัว” อยู่ใน “ระดับสูง” ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศปรับสูงขึ้นตาม และคาดว่า ราคาจะยังทรงตัว “ระดับสูง” ต่อไปอีก
         
หากให้ “สรุป” ตรงนี้ ผู้เขียนคิดว่า “ราคาสินค้าเกษตร” จากนี้ไป ก็จะยัง “ดีอยู่

เพราะผลพวงจากโลก “ร้อน-แล้ง” ทำให้ “ผลผลิตเกษตร” ทั่วโลกลดลงมาก

มาตรการที่ “กรมการค้าภายใน” มีอยู่ตอนนี้ ก็น่าจะ “เอาอยู่” เกษตรกร น่าจะ “เบาใจ” ได้ไปอีกระยะหนึ่ง เพราะด้วยความที่ราคาสินค้าเกษตรทั่วโลก ปรับตัวสูงขึ้น ราคาในไทยก็คงทรงตัวสูงต่อไป

ส่วน “ประกันรายได้” คงไม่ได้ “ไปต่อ” แน่นอนแล้ว “ปิดฉาก” ไปพร้อม ๆ กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งก็ถือได้ว่า “จบสวย

ส่วนหนึ่งเพราะ “กระทรวงพาณิชย์” มีการ “หาตลาดล่วงหน้า” รองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนหนึ่ง มีการใช้ “มาตรการเสริม” ช่วงราคาตก และส่วนหนึ่งได้ผลดีจาก “ราคาตลาดโลก” ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาภาพรวมสูงขึ้น จนจ่ายชดเชยลดลง รัฐ "ประหยัด" ได้มากขึ้น 

แต่ต่อไป ถ้าเมื่อใด “ราคาตก” ก็ไม่รู้ว่า “รัฐบาลใหม่” จะใช้ “มาตรการ” อะไร หรือ “วิธีการ” แบบไหน เข้ามาดูแล

ตอนนี้ ก็ได้แต่ “รอลุ้น” ไปพร้อม ๆ กับเกษตรกร

แต่ในฐานะคนทำข่าว ขอ “อย่างเดียว” อย่า “ฟื้นคืนชีพ” โครงการ “รับจำนำ” เป็นพอ  
         
เพราะมี “วิธีการ” ช่วยเหลือ “เกษตรกร” อีกร้อยแปดพันเก้า ที่จะนำมาใช้ได้  

ไม่ใช่อะไรหรอก ไม่อยากเห็น “ประวัติศาสตร์” ซ้ำรอย ก็แค่นั้น
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด