​Mini FTA เปิดตลาดค้าขาย

img

หลังจากที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้กำหนดนโยบายให้จัดทำ “ความร่วมมือทางการค้า” กับรัฐ เมือง และมณฑลของประเทศต่าง ๆ โดยใช้ชื่อเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “Mini FTA
         
ปรากฏว่า ตั้งแต่ปี 2564-65 “กระทรวงพาณิชย์” ได้เดินหน้าจัดทำ Mini FTA กับประเทศต่าง ๆ ไปแล้วจำนวน 6 ฉบับ
         
เริ่มจากฉบับแรก “ไทย-โคฟุ” ของญี่ปุ่น ถือเป็น “ฉบับประวัติศาสตร์” ในการลงนาม Mini FTA ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยตกลงที่จะร่วมมือกันใน “อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ” ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายไทย-ญี่ปุ่น
         
ฉบับที่ 2 “ไทย-ไห่หนาน” นี่ก็นเป็นฉบับประวัติศาสตร์ ในการลงนาม Mini FTA กับจีน เพราะเป็นฉบับแรกที่ทำกับมณฑลของจีน โดยได้ “ตั้งเป้า” เพิ่มความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มจาก 9,233 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 12,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปี และหลังจากลงนาม มีการจัด “กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ” ไปแล้ว 4 ครั้ง สร้าง “มูลค่าการค้า” ได้กว่า 643 ล้านบาท
         
ฉบับที่ 3 “ไทย-เตลังคานา” ของอินเดีย ตั้งเป้าเพิ่มความร่วมมือด้านเอสเอ็มอี สตาร์ตอัป การแปรรูปอาหาร เฟอร์นิเจอร์ และการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมา มีการจัด “กิจกรรมส่งเสริมการค้า” และจัด “เจรจาจับคู่ธุรกิจ” สร้างมูลค่าการค้าเกือบ 400 ล้านบาท
         
ฉบับที่ 4 “ไทย-กานซู่” ของจีน เป็นมณฑลที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหม” และเน้นความร่วมมือ “อาหารฮาลาล” โดยสถานะปัจจุบัน มีการจัด “กิจกรรมส่งเสริมการค้า” สร้างยอดขายได้กว่า 100 ล้านบาท
         


ฉบับที่ 5 “ไทย-ปูซาน” เมืองท่าใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ได้ตั้งเป้าเพิ่ม “มูลค่าการค้า” เป็น 2 แสนล้านบาทใน 3 ปี นับจากปี 2565 และจะเน้นร่วมมือ “ซอฟต์ พาวเวอร์” เช่น ภาพยนตร์ แอนิเมชัน ละคร ซึ่งผลดำเนินการ มีการจัด “เจรจาจับคู่ธุรกิจ” ได้มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท
         
ฉบับที่ 6 “ไทย-คยองกี” จังหวัดที่มี “ประชากรมากที่สุด” ของเกาหลีใต้ เน้นความร่วมมือการค้าสินค้า บริการ และซอฟต์ พาวเวอร์  
         
โดย “ผลงาน” จากการลงนามทำ Mini FTA ทั้ง 6 ฉบับที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่า มีส่วนช่วยเพิ่ม “มูลค่าการค้า” และเพิ่ม “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ” ระหว่างไทยกับเมืองและมณฑลต่าง ๆ ได้จริง
         
กระทรวงพาณิชย์ จึงมีแผนที่จะ “ทำต่อ” ในปี 2566 นี้ โดย “ตั้งเป้า” เอาไว้ ไม่ต่ำกว่า 7 ฉบับ
         
เท่าที่ชัดเจน ก็วันที่ 1 มี.ค.2566 นายจุรินทร์ จะเป็นประธานการลงนาม Mini FTA ระหว่าง “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” กับหน่วยงานของเมือง “เซินเจิ้น” จะเป็น “ฉบับที่ 7” และเป็น “ฉบับแรก” ของปี 2566
         
ความสำคัญของเซินเจิ้น เป็นเมืองที่มี “ศักยภาพ” สำหรับ “การค้า” และ “การลงทุน” เชิงลึก มีประชากรมากถึง 12.53 ล้านคน เป็นเมืองหลักทางตะวันออกของจีน การลงนาม Mini FTA ร่วมกัน จะช่วย “เพิ่มโอกาส” ของ “สินค้า” และ “บริการ” ของไทยในการเข้าสู่ตลาดระดับเมืองสำคัญของจีน
         
จากนั้น ตามมาติด ๆ จะเป็นการลงนาม Mini FTA กับ “ยูนนาน” ที่จะเป็นฉบับที่ 8 ตอนนี้อยู่ระหว่างการประสานงานในรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
         
สำหรับยูนนาน มีความสำคัญ เพราะมีประชากรมากถึง 47.21 ล้านคน มี “พรมแดน” ติดกับเมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว ที่ช่วย “เชื่อมโยง” การค้ากับไทย ที่สำคัญเป็น “ตลาดเมืองรอง” ด้านการค้า การขนส่ง และโลจิสติกส์ จะช่วยเพิ่มโอกาสสินค้าและบริการ รวมถึงการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย โดยใช้ประโยชน์จาก “รถไฟลาว-จีน” ในการเข้าสู่ตาดระดับมณฑล และเมืองรองสำคัญของจีน
         


ส่วน Mini FTA ที่เหลือ มีอีกราว ๆ 5 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เป็น “เมืองรอง” ในอินเดียทั้งหมด ได้แก่ รัฐกรณาฏกะ รัฐมหาราษฎระ รัฐเกรละ รัฐอัสสัม และรัฐคุชราต

เป้าหมายในการทำ Mini FTA กับทั้ง 5 รัฐของอินเดียนี้ ก็เพื่อใช้เป็น “ใบเบิกทาง” ในการ “บุกตลาด” เมืองรองด้านการค้า และการลงทุนเชิงลึก โดยเน้นความร่วมมือทางการค้า อาหาร และเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ อาหารฮาลาล น้ำมันปาล์ม เฟอร์นิเจอร์ บริการทางการแพทย์และความงาม เป็นต้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยังมี Mini FTA ที่ภาคเอกชนเสนอให้จัดทำ เช่น “การาจี” ของปากีสถาน และประเทศสมาชิก “อ่าวอาหรับ” ที่ขณะนี้อยู่ระหว่าง “การเริ่มต้นเจรจา” และศึกษา “ความเป็นไปได้

ขณะที่เมืองใน “แอฟริกา” ภาคเอกชนก็เสนอเช่นเดียวกัน แต่มองว่า ยังมี “ความเสี่ยง” ด้านการทำการค้า โดยเฉพาะ “การชำระเงิน” และ “อัตราแลกเปลี่ยน” ที่ผันผวน จึงต้องพิจารณาให้ “ละเอียด” และต้อง “รอบคอบ” ก่อนว่าจะมีความ “คุ้มค่า” หรือไม่
         
แต่ก็ไม่ได้ “ปิดกั้น” หรือ “ปิดประตูตาย” เสียทีเดียว
         
เพราะ Mini FTA หากใช้ “ถูกที่” และ “ถูกจังหวะ” ก็ย่อมเป็น “เครื่องมือ” ในการเปิด “ประตู” การค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐ เมือง และมณฑล ของประเทศต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
         
เห็นด้วย ลุยเลย
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด