​ใกล้นับหนึ่ง FTA ไทย-อียู

img

เมื่อช่วงปลายเดือนม.ค.2565 ที่ผ่านมา “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้นำทีมที่รับผิดชอบการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

การเดินทางไปในครั้งนี้ นายจุรินทร์ได้พบกับ “นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส” รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือเทียบเท่าในระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป

ผลที่เกิดขึ้นจากการพูดคุย สามารถบันทึกได้ว่าเป็น “วันประวัติศาสตร์” ทางการค้าไทย-อียู อีกครั้ง เพราะทั้ง 2 ฝ่าย มี “ข้อสรุป” ในการ “แสดงเจตจำนง” ให้แต่ละฝ่าย “ดำเนินกระบวนการภายใน” เพื่อนำไปสู่ “การจัดเจรจาทำ FTA” ระหว่าง 2 ฝ่ายต่อไปโดยเร็ว
         
ความสำเร็จ” ในครั้งนี้ นับว่าใช้เวลา “น้อยที่สุด” และ “สั้นที่สุด” ในการเจรจาว่าความเรื่องการเปิดเจรจา FTA เลยก็ว่าได้ โดยสั้นกระทั่งระยะเวลาเดินทาง และสั้นกระทั่งระยะเวลาพบปะพูดคุยกัน
         
เราไปดูกันว่าสั้นยังไง นายจุรินทร์บินไปบรัสเซลส์ เริ่มต้นคืนวันที่ 25 ม.ค.2566 จากกรุงเทพฯ ไปถึงมิวนิก เยอรมนี ใช้เวลาบินเกือบ 12 ชั่วโมง แล้วต่อเครื่องไปบรัสเซลส์ อีก 1.25 ชั่วโมง ถึงบรัสเซลส์ก็กว่า 10 โมงเช้า แต่ที่ถึงเช้า เพราะบรัสเซลส์เวลาช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง จากนั้นเข้าโรงแรม อาบน้ำ อาบท่า แล้วไปรับประทานอาหาร

พอบ่ายแก่ๆ เดินทางไปเยี่ยมชมรัฐสภาอียู ฟังบรีฟขั้นตอนการทำงาน ฟังวิธีการออกกฎระเบียบ กฎหมายของอียู จนได้เวลานัดประมาณ 5 โมง ออกเดินทางไปพบปะหารือกับอียู แล้วต่อด้วยอียูเลี้ยงอาหารค่ำ กว่าจะจบก็ 2 ทุ่มกว่าๆ

เบ็ดเสร็จใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง จบทั้ง “ข้อสรุป” จบทั้ง “พิธีการ

พอเช้าอีกวัน 26 ม.ค.2566 นายจุรินทร์ ขึ้นเครื่องบินกลับไทยทันที ใช้เส้นทางบรัสเซลส์-มิวนิก และมิวนิก-สุวรรณภูมิ รวมระยะเวลาไปทำภารกิจทั้งสิ้น 2 วันเต็ม ๆ แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่บนเครื่องบินมากกว่า ต้องบอกว่า “อึดจริง ๆ



กลับมาเรื่องการทำ FTA ไทย-อียู หลังคุยจบ ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น ที่ “ออกข่าว” บอกสาธารณะชน แต่อียูก็ให้ “ความสำคัญ” ไม่แพ้กัน

นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส ถึงกับโพสต์ผ่านทวิตเตอร์ Valdis Dombrovskis ระบุว่า ยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพรับรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งผลการหารือเป็นไปด้วยดี โดยทั้งสองฝ่ายต้องการให้มีความตกลงที่ครอบคลุม คุณภาพสูง และมีข้อบทที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายจะกลับไปเริ่มกระบวนการภายในของแต่ละฝ่ายทันที มีเป้าหมายที่จะเปิดการเจรจา FTA ไทย-อียูโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้

สำหรับ “ความคืบหน้า” ล่าสุด ฝ่ายไทย นายจุรินทร์ได้ “ลงนาม” หนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำกรอบการเจรจา FTA ไทย-อียู ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาแล้ว ฝั่งอียูก็อยู่ระหว่างการขอ “ความเห็นชอบ” จากสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ

นายจุรินทร์ บอกว่า ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มนับหนึ่งการเจรจา FTA ระหว่างกันได้ และไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และเวียดนาม ที่ทำ FTA กับอียู และจะก่อให้เกิดประโยชน์กับไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การค้าบริการ และอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศไทยได้อีกมาก
         
หากถามว่า ทำไมต้องทำ FTA กับอียู ตอบง่าย ๆ ก็เพราะอียูมี “ความสำคัญ” กับไทย โดยเป็น “คู่ค้า” อันดับที่ 4 รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ปี 2565 ไทยค้ากับอียูมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.87% คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.17% หรือประมาณ 843,378 ล้านบาท
         
ความสำคัญไม่ใช่มีแค่การค้า ยังมีความสำคัญด้านอื่น ๆ ด้วย โดยมีผลการศึกษาที่จัดทำโดย “สถาบันอนาคตศึกษา” ซึ่ง “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ว่าจ้างให้ศึกษาและได้ทำการศึกษาเสร็จแล้ว  
         


พบว่า ถ้ายกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันทั้งหมด จะช่วยเพิ่ม “จีดีพี” ของไทย 1.28% คิดเป็นมูลค่า 205,000 ล้านบาทต่อปี “การส่งออก” ไปอียูเพิ่ม 2.83% หรือ 216,000 ล้านบาทต่อปี และ “การนำเข้า” จากอียูเพิ่ม 2.81% หรือ 209,000 ล้านบาทต่อปี และด้าน “สังคม” จะทำให้ “คนจน” ลดลง 270,000 คน “รายได้เกษตรกร” เพิ่มขึ้น 1.1% และ “ช่องว่างความยากจน” ลดลง 0.07%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ย้ำว่า จากผลศึกษา เห็นได้ชัดว่า การทำ FTA ไทย-อียู ไทยได้ประโยชน์มากมาย และยังเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไทยต้องการ นักลงทุนต่างชาติ ก็ต้องการ เพราะอยากย้ายฐานการผลิตมาไทย แล้วส่งออกไปอียู
 
ส่วนประเด็น “ท้าทาย” ทั้งทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร พันธุ์พืช แรงงาน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไทยมีการเตรียมพร้อมมาหมดแล้ว และยังมีความก้าวหน้ามาก รวมทั้งเป็นผู้นำในหลาย ๆ เรื่องด้วยซ้ำ เช่น เรื่อง BCG  
         
นางอรมนยังยืนยันอีกว่า หากเริ่มการเจรจา อะไรที่ผู้ประกอบการไทยอยากได้ อยากเข้าไปบุก ก็บอกมา พร้อมที่จะไปเจรจาให้ และยังจะเปิดให้มีเวทีใช้หารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ส่วนอะไรที่อยากให้ต่อรอง หรืออยากได้เวลาปรับตัว ก็บอกมา จะไปต่อรองให้ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งกังวล ยืนยันว่าในการเจรจา จะดูแลผลประโยชน์ของประเทศไม่ให้เสียเปรียบอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้ คือ “ความคืบหน้า” ในเรื่องการเจรจาทำ FTA ไทย-อียู จากกระทรวงพาณิชย์ แบบ “สด ๆ ร้อน ๆ

หากจะถามว่า การทำ FTA ไทย-อียู “ดี” หรือ “ไม่ดี” คงไม่มีใครตอบแบบชัดเจนได้ จะมีก็แต่ผลการศึกษาที่บอกว่าดี

ดังนั้น ก็ต้องลุ้นให้มีการ “นับหนึ่ง” ให้ได้ก่อน คำตอบ “ที่เหลือ” จะตามมาเอง
         
แต่ถ้าจะให้ “ฟันธง” ตอนนี้ เดี๋ยวนี้

เชื่อว่า ไทย “ได้” มากกว่า “เสีย” แน่นอน  
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด