​“โลคัล พลัส” ขับเคลื่อนฐานราก

img

ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2566 “กระทรวงพาณิชย์” ยังคงเดินหน้า “ขับเคลื่อนภารกิจ” ในความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดทำนโยบายใหม่ ๆ ออกมา เพื่อ “กระตุ้น” และ “ฟื้นฟู” เศรษฐกิจ
         
หนึ่งใน “นโยบายใหม่” ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผู้เขียนได้มีโอกาส “ศึกษา” และ “เจาะลึก” ในรายละเอียด มีโครงการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โครงการ Local+ (โลคัล พลัส)
         
โครงการ “โลคัล พลัส” เป็นโครงการที่มี “เป้าหมาย” เพื่อ “ขับเคลื่อน” และ “ฟื้นฟู” เศรษฐกิจในระดับฐานราก
         
เดี๋ยวจะพาไปดู ว่า โครงการมีรายละเอียดอย่างไร และจะเกิด “ผลดี “ ต่อเศรษฐกิจฐานรากยังไงกันบ้าง  
         
ก่อนอื่นขอแจ้ง “ที่มาที่ไป” ของโครงการนี้กันก่อน โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากโยบายของ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ที่ต้องการสร้าง “ความเข้มแข็ง” ให้กับ “คนตัวเล็ก
         
คนตัวเล็กในที่นี้ หมายถึง “เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการรายจิ๋ว รายย่อย” อะไรประมาณนี้
         
สำหรับรายละเอียดโครงการ จะ “ตามหา” สินค้าชุมชน ที่อยู่ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มสินค้า BCG 2.กลุ่มสินค้าอัตลักษณ์ และ 3.กลุ่มสินค้านวัตกรรม มาต่อยอดให้เป็น “สินค้าโลคัล พลัส
         
สินค้าที่ผลิตในชุมชนทั้งหลายทั้งมวล ที่เข้า “เงื่อนไข” ใน 3 กลุ่มข้างต้น ก็สามารถที่จะเข้ามาอยู่ในโครงการได้
         
วิธีการ” ให้ได้มา ซึ่ง “ตัวสินค้า” ก็คือ “พาณิชย์จังหวัด” ที่อยู่ในฐานะ “เซลส์แมนจังหวัด” จะเป็น “ผู้ทำหน้าที่” ออกไป “ตามหา-ค้นหา-เสาะแสวงหา” สินค้ามาเข้าร่วมโครงการ
           
จากนั้น จะเข้าไป “ช่วยเหลือ” ด้วยการให้ความรู้ด้าน “การผลิต-การพัฒนาสินค้า” และช่วยเพิ่ม “ช่องทางการตลาด-ช่องทางการขาย” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
         


หลังจากที่ “ตามหา” และช่วย “อัปเกรด” สินค้าทั้ง 3 กลุ่มแล้ว ก็จะกลายเป็น “สินค้าโคคัล พลัส” โดยจะเป็นสินค้าที่ “เพิ่ม” ซึ่งเพิ่มทั้ง “คุณค่า-ดีไซน์-คุณสมบัติ-เรื่องราว” และจะมี “คุณค่าต่อจิตใจ” เพราะสินค้าเหล่านี้ คนซื้อจะซื้อเพราะ “อินไปกับเรื่องราว” ของสิ่งที่ซื้อ ซื้อเพราะตรงกับ “ความเชื่อ” ของตัวเอง เช่น มีใจรักสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก หรืออยากสืบทอดวัฒนธรรมให้คงอยู่
         
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า รูปแบบการทำงาน พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะลงพื้นที่ไปทำการคัดของดี ของเด็ด สินค้าที่มีศักยภาพ ทั้งกลุ่ม BCG กลุ่มสินค้าอัตลักษณ์ และกลุ่มที่มีนวัตกรรม เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลสินค้าโลคัล พลัส

เมื่อได้ “ข้อมูล” และ “รายละเอียด” สินค้าแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยส่งเสริม ทั้งด้านการผลิต การพัฒนาตัวสินค้า ดีไซน์ สร้างเรื่องราว เพื่อให้มีคุณลักษณะพิเศษ มีคุณค่าต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการรักสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก การช่วยสืบทอดวัฒนธรรม เพื่อช่วยผู้บริโภครู้จักสินค้าโลคัล พลัส สามารถขยายตลาด รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
         
โดย “กลยุทธ์” ที่จะนำมาใช้ มีทั้งสิ้น 5 กลยุทธ์ ได้แก่
         
1.การสร้าง “ความรู้-ความเข้าใจ” ด้านการตลาดให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้บริโภค ให้มีความรู้ความเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของโลคัล พลัส

2.การพัฒนา “ฐานข้อมูล” ที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการวางแผน “การตลาดเชิงรุก” ให้กับสินค้าโลคัล พลัส ในรูปแบบ 2 ภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพส่งออก
         
3.การ “ขยายตลาด” สินค้าโลคัล พลัส ทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดจัดงานแสดงสินค้าในระดับภูมิภาค ทั้ง 4 ภาค ช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2566 และจัดงานแสดงสินค้า เจรจาธุรกิจ และสัมมนาวิชาการ Thailand International Local Plus Expo 2023 (TILP Expo 2023) ช่วงเดือนมิ.ย.2566 เพื่อช่วยให้ความรู้ด้านการตลาด มาตรการ มาตรฐาน ขยายโอกาสของสินค้าเข้าสู่ตลาดเป้าหมายแก่ผู้ประกอบการ และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (OBM)
         


4.การสร้าง “ความหลากหลาย” ของสินค้าโลคัล พลัส ให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยจะช่วยพัฒนาสินค้าตัวใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด
         
5.การ “สนับสนุนเชิงนโยบาย” โดยหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกันพิจารณามาตรการสนับสนุนโลคัล พลัส ในระดับนโยบาย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ
         
ปัจจุบัน “พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ” ได้ตามหา ค้นหา สินค้า 3 กลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลักดันเป็นสินค้าโลคัล พลัส ได้แล้วเป็นจำนวนมาก และกำลังอยู่ระหว่าง การเข้าไปช่วยเหลือ ช่วยพัฒนาสินค้า และช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด
         
สำหรับสินค้าโลคัล พลัส ที่ผ่านการคัดเลือกมา มีอะไรบ้าง แต่ละสินค้ามี “จุดดี” และ “จุดเด่น” อะไร ขอให้ติดตาม “ซีเอ็นเอ” เดี๋ยวจะนำมารายงานให้ทราบเป็นระยะ ๆ
         
ส่วน “เป้าหมาย” ที่ตั้งไว้สำหรับโครงการนี้ นายกีรติ บอกว่า เมื่อทำโครงการสำเร็จ จะช่วย “สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็ง” ให้กับผู้คนในระดับฐานราก และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโต และยังมีผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่จะเติบโตตามไปด้วย  
         
เป็นอีกหนึ่งในโครงการดี ๆ ที่ “กระทรวงพาณิชย์” จัดให้  
         
ยินดีกับ “คนตัวเล็ก” ที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ที่จะได้รับการ “ดูแล” และ “เอาใจใส่
         
และหวังว่า “อีกไม่นาน” เรา ๆ ท่าน ๆ จะได้เห็นสินค้าโลคัล พลัส ออกไป “เฉิดฉาย” ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง    
         
ขอให้เฮง ๆ ปัง ๆ
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด