ช่วงหลังหยุดยาว “ปีใหม่” เป็นต้นมา สถานการณ์การซื้อขาย “ปาล์มน้ำมัน” ในพื้นที่ภาคใต้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยปกติซักเท่าไร
เพราะ “ลานเท” และ “โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม” ในพื้นที่ “หยุด” รับซื้อ โดยเฉพาะโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มหลายแห่งที่ “ปิด” เพื่อ “ปรับปรุง” และ “ซ่อมบำรุง” เครื่องจักร
พอ “ชาวสวนปาล์ม” ตัดปาล์มมาขาย ก็ไม่สามารถ “ขายได้” ทำให้ผลปาล์มดิบ “ทะลัก” ไปยังโรงงานที่ยังเปิดรับซื้อ
หนักเข้า “รถกระบะ-รถบรรทุก” ที่ขนปาล์มไปขาย ก็ต้อง “ต่อคิว” หน้าโรงงานยาวเป็นกิโล ๆ
ผลกระทบก็เลย “บานปลาย” ไปฉุดให้ราคา “ผลปาล์มดิบ” ลดลงด้วย
ทันทีที่เกิดเรื่องขึ้น “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้ “กรมการค้าภายใน” และ “สำนักงานพาณิชย์จังหวัด” ในพื้นที่ปลูกปาล์ม ลงไปตรวจสอบ “ข้อเท็จจริง” ว่า “เกิดอะไรขึ้น” กันแน่
พอตรวจสอบแล้ว ถึงรู้เรื่องว่า เนื่องจากช่วง “เทศกาลปีใหม่” ลานเทและโรงงานสกัดส่วนใหญ่ปิดรับซื้อตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.2565 และเริ่มเปิดรับซื้อใหม่ในวันที่ 2 ม.ค.2566 และสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการ “เปิดรับซื้อ” ตามปกติแล้ว
แต่ที่มีปัญหา “ติดขัด” เกิดขึ้น เพราะเกษตรกรที่มี “รอบเก็บเกี่ยว” หลังปีใหม่ มีผลปาล์ม “สุกเต็มที่” จึงต้องเร่งเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน ทำให้ปริมาณผลปาล์มที่เข้าสู่ตลาดมากกว่าปกติ จน “เกินกำลัง” การผลิตของโรงงาน และโรงงานบางรายต้องเร่งเคลียร์ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีอยู่ก่อน ทำให้ต้องรอคิวนานกว่าปกติ
นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังได้กำชับให้กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำชับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ “ปิดป้าย” แสดงราคาให้ “ชัดเจน” และ “เปิดเผย”
พร้อมให้ “คุมเข้ม” ตรงแนวชายแดน เพื่อป้องกัน “การลักลอบนำเข้า” ด้วย
ต่อมา “นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” ได้ลงพื้นที่ไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2566 เพื่อไปดูซ้ำว่า “เกิดอะไรขึ้น” และจะช่วย “แก้ปัญหา” ให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มยังไง
จากการตรวจสอบ ก็เป็นไปตามที่ได้รับรายงานมา คือ มีโรงงานสกัดปิดก่อนปีใหม่ และเพิ่งเปิดหลังปีใหม่ เมื่อเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ ก็เลยเกิดปัญหาติดขัด
ประกอบกับ มีหลายโรงงานใช้โอกาสช่วงนี้ ที่ปกติ “ผลผลิตปาล์ม” จะออกสู่ตลาดน้อย ปิดโรงงานเพื่อ “ซ่อมเครื่องจักร” พอพ้นช่วงปีใหม่ ก็เลยมีโรงงานที่เปิดรับซื้อไม่ครบทั้งหมด
นายวัฒนศักย์บอกถึงสาเหตุ ว่า “จริง ๆ ช่วงนี้ ไม่ใช่ช่วงที่ผลผลิตออกมาก แต่ได้รับผลกระทบจากโรงงานปิดในช่วงปีใหม่ พอเปิดมา เกษตรกรก็รีบตัดมาขาย พอของเข้าโรงงานมาก ๆ เกินกำลังการผลิต ก็เลยเจอปัญหาตกค้าง แต่ได้ขอความร่วมมือโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแล้วให้เปิดช่องทางพิเศษในการรับซื้อปาล์มสำหรับเกษตรกรรายย่อย และให้เพิ่มกำลังการสกัดน้ำมันปาล์มแล้ว”
ส่วนการ “ปิดซ่อม” เครื่องจักร นายวัฒนศักย์ได้แจ้งกับผู้ประกอบการ หากจะมีการ “ซ่อมบำรุง” ให้แจ้ง “สำนักงานพาณิชย์จังหวัด” ล่วงหน้า เพื่อทำเป็น “ตาราง” การซ่อมบำรุงไม่ให้ตรงกัน แต่ถ้า “มีแผน” ที่จะซ่อมบำรุงในช่วงนี้ ก็ขอให้ “ชะลอ”ออกไปก่อน ซึ่งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มต่างตอบรับกับข้อเสนอดังกล่าวด้วยดี
สำหรับ “เกษตรกร” ได้ขอ “ความร่วมมือ” ให้ชะลอการ “เก็บเกี่ยว” ปาล์มน้ำมันออกไประยะหนึ่งก่อน เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลาย และจะได้ไม่ต้อง “ถูกกดราคา”
ทั้งนี้ นายวัฒนศักย์ มั่นใจว่า จากการลงไป “แก้ไขปัญหา” อย่างทันท่วงที คาดว่า “สัปดาห์นี้” สถานการณ์ทุกอย่างจะเริ่ม “คลี่คลาย” และกลับเข้าสู่ “ภาวะปกติ”
พร้อมกับยืนยันว่า จะ “ติดตามดู” สถานการณ์ต่อไป และยังมี “ทีมสายตรวจ” ลงพื้นที่ตรวจสอบตลอดเวลา โดยเฉพาะการ “ปิดป้ายราคารับซื้อ” ถ้าพบไม่ “ปิดป้าย” หรือ “กดราคา” รับซื้อ จะดำเนินการตามกฎหมายทันที
ขณะเดียวกัน จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กอ.รมน.จังหวัด ตำรวจ ตรวจสอบการ “ลักลอบ” ขนย้ายน้ำมันปาล์มโดยไม่ได้รับอนุญาตขนย้ายด้วย
พูดได้ว่า “ปิดช่องว่าง-ช่องโหว่” ทุกทาง เพื่อดูแลเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ให้ได้รับความ “เป็นธรรม” ในการซื้อขายผลผลิต
ตอนนี้ สถานการณ์กำลัง “ดีขึ้น” แล้ว ใครที่คิด “ฉวยโอกาส” กดราคาปาล์ม ก็ขอให้ “คิดดี ๆ”
เพราะ “กระทรวงพาณิชย์” จับตาอยู่ โดยเฉพาะ “พ่อค้า” ที่คอย “หาเศษหาเลย-หาประโยชน์” ถ้า “ตรวจพบ” หรือ “เจอะเจอ” รับรองฟันไม่เลี้ยง
อย่ามองแค่ว่าใน “ทุกวิกฤต” จะมีโอกาส “ทำเงิน”
เท่าที่ผู้เขียนได้รับ “ข้อมูล” มา กระทรวงพาณิชย์จะไม่ “นิ่งเฉย” และ “อยู่เฉย”
จะไม่ปล่อยให้ใครมาเอาเปรียบ “เกษตรกร”
และจะ “ไม่ยอม” ให้ใครมากวน “ปาล์ม” ให้ยุ่ง
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง