​เงินเฟ้อปี 65 เพิ่ม 6.08% ใครต้องรับผิดชอบบ้าง

img

กระทรวงพาณิชย์” โดย “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” เพิ่งประกาศตัวเลข “เงินเฟ้อ” ทั้งปี 2565 ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
         
ปรากฏว่า เพิ่มสูงขึ้น 6.08% และอยู่ใน “กรอบ” ที่ประเมินเอาไว้ที่ 5.5-6.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 6.0%
         
แต่ที่หลาย ๆ สื่อ เอาไป “พาดหัว” ให้ดูน่า “ตกใจ” ก็คือ เงินเฟ้อดังกล่าวเพิ่มขึ้น “สูงสุดในรอบ 24 ปี” นับจากปี 2541 ที่เคยเพิ่มขึ้น 8.1%
         
ดูผิวเผิน ก็น่า “กังวล” เพราะเงินเฟ้อไม่เคยสูงขนาดนี้ในรอบ 24 ปี
         
อย่างไรก็ตาม เมื่อ “เจาะลึก” ลงไปในเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 6.08% นั้น พบว่า มี “รายละเอียด” ที่น่าสนใจอยู่มากมายเลยทีเดียว
         
โดยเงินเฟ้อ 6.08% มี “ที่มาที่ไป” ดังนี้ โดย 1% มาจากการสูงขึ้นของ “เนื้อสุกร ไก่ และไข่ไก่” 1% มาจาก “อาหารสำเร็จรูป” 1% มาจาก “ค่ากระแสไฟฟ้า” 2% มาจาก “ค่าน้ำมัน” และ 1% สุดท้าย เป็นการเพิ่มขึ้นของ “สินค้าอื่น ๆ
         
จาก “ตัวเลขดังกล่าว” ทำให้มองเห็น “สาเหตุ” การเพิ่มขึ้นของ “เงินเฟ้อ” ได้ชัดเจนขึ้น  
         
หรืออธิบายให้เข้าใจชัด ๆ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น 6.08% “กระทรวงพาณิชย์” ไม่ได้กำกับดูแลเสียทั้งหมด โดยมี “สัดส่วน” ที่ดูแลและเกี่ยวข้องจริง ๆ ประมาณ “ครึ่งหนึ่ง” ของเงินเฟ้อ ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง เป็น “กระทรวงอื่น หน่วยงานอื่น” ดูแล
         
เริ่มจาก 1% แรก ที่เป็นการ “สูงขึ้น” ของ “เนื้อสุกร ไก่ และไข่ไก่” จุดนี้ “กระทรวงพาณิชย์” รับผิดชอบดูแล โดยได้เข้าไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะทราบดีว่า ผลพวงจากวิกฤต “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ทำให้ราคาธัญพืชโลกปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์สูงขึ้นตาม และส่งผลกระทบถึงราคาอาหารสัตว์ และต่อเนื่องถึง “ต้นทุน” การเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งหมู ไก่ ไข่
         


จึงได้แก้ปัญหาด้วยการ “เปิดช่อง” ให้มี “การนำเข้า” วัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะ “ข้าวโพด-ข้าวบาร์เลย์” เพิ่มเพิ่มซัปพลายในประเทศ ทำให้ปัญหา “อาหารสัตว์แพง” บรรเทาลงได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ทั้งหมด ก็เลยส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเนื้อหมู ไก่ ไข่ จนทำให้ราคาขยับขึ้น
         
แต่ถ้า “ปล่อยไว้” หรือ “นิ่งเฉย” ไม่ดูแลเลย ราคา “อาหารสัตว์” ที่เป็นต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ น่าจะ “ไปไกล” กว่านี้ สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ น่าจะ “เพิ่มขึ้น” มากกว่านี้
         
อีก 1% ที่เป็นการสูงขึ้นของ “อาหารสำเร็จรูป” อันนี้ กระทรวงพาณิชย์ก็ปัด “ความรับผิดชอบ” ไม่ได้ เพราะเป็น “ความต่อเนื่อง” ของกลุ่ม “เนื้อสัตว์” ที่สูงขึ้น ก็เลยกระทบต่ออาหารสำเร็จรูปที่ขยับขึ้นตามต้นทุน  
         
และอีก 1% ที่เป็นการสูงขึ้นของ “สินค้าอื่น ๆ” นี่ก็กระทรวงพาณิชย์ดูแล โดยใช้นโยบาย “วินวิน โมเดล” ตามที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการเอาไว้
         
หลักในการดูแลราคาสินค้า คือ 3 ฝ่าย ได้แก่ “เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค” ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ หากจะมีการ “ปรับขึ้นราคาสินค้า” ก็ต้อง “รับภาระ” กันคนละส่วน ไม่โยนภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งหมด และเมื่อ “ต้นทุน” ลดลง ราคาสินค้า ก็ต้อง “ลงตาม” ด้วย
         
ผลการดำเนินการตามหลักการนี้ ทำให้สินค้าขยับขึ้นลงตามต้นทุน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็ “น้ำมันปาล์ม” และ “ปุ๋ยเคมี” เป็นต้น
         
ส่วนสินค้าอื่น ๆ หากจำเป็นต้องขึ้น ก็ให้ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง และให้ผู้ผลิตช่วยรับภาระบางส่วน เพราะถ้า “ไม่ให้ขึ้นเลย” อาจจะมีปัญหา “สินค้าขาดแคลน” ตามมา จนในที่สุด ก็มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก
         
และในระหว่างที่กำกับดูแลราคาสินค้า ก็มีโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยผนึกกำลังกับผู้ผลิต ห้างค้าส่งค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ แพลตฟอร์มออนไลน์ ทำการลดราคาสินค้าเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งก็ช่วย “ดึง” ราคาสินค้าลงได้
         


สำหรับอีก 3% ที่เหลือ เป็นความรับผิดชอบของ “กระทรวงอื่น หน่วยงานอื่น” กระทรวงพาณิชย์เป็นแค่ปลายทาง ที่คอยเก็บ “ข้อมูล” เท่านั้น
         
โดย 1% แรก เป็นการสูงขึ้นของค่า “กระแสไฟฟ้า” ที่ “กระทรวงพลังงาน” เป็นผู้รับผิดชอบ
         
อีก 2% เป็นการสูงขึ้นของ “น้ำมัน” ที่ “กระทรวงพลังงาน” เป็นผู้รับผิดชอบอีก
         
สรุปรวมเงินเฟ้อ 3% ใน 6.08% เป็นการสูงขึ้นจากการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น แล้วมาบวกเพิ่มในเงินเฟ้อ
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ต้อง “ตามล้าง ตามเช็ด” เพราะต้นทุน “ค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำมัน” ที่สูงขึ้น มีผลกระทบต่อ “ต้นทุน” การผลิตสินค้า ที่ต้องเข้าไปกำกับดูแล ไม่ให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาอีก แบบว่า “ชะลอ” ได้ ก็ต้องขอให้ชะลอออกไปก่อน
           
การที่สินค้าแพง ของแพง ส่วนหนึ่ง “กระทรวงพาณิชย์” รับผิดชอบ แต่อีกหลาย ๆ ส่วน กระทรวงอื่น หน่วยงานอื่น รับผิดชอบ การจะ “พุ่งเป้า” มาที่กระทรวงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว
         
แบบนี้ ดูเหมือนจะไม่ค่อย “แฟร์” และ “เป็นธรรม” ซักเท่าไร
         
ผู้เขียน “ชำแหละ” ข้อมูลการเกิดขึ้นของเงินเฟ้อ 6.08% ที่มองกันว่าพุ่งสูงสุดในรอบ 24 ปีให้ดูกันแล้ว
         
คงพอ “เห็นภาพ” เงินเฟ้อ “เกิดขึ้น” จากสาเหตุอะไร ใครทำอะไร และใครไม่ทำอะไร เพื่อที่จะช่วยชะลอเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้น
         
ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ “กระทรวงพาณิชย์”  
         
ที่เขียน ไม่ได้จะมา “แก้ตัว” หรือ “แก้ต่าง” แทน

แค่เอา “ความจริง” มาพูดกัน 
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด