​สินค้าขึ้นได้ต้องลงได้

img

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา “กระทรวงพาณิชย์” ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ “สถานการณ์สินค้า” อย่างต่อเนื่อง
         
เน้นตรวจสอบทั้ง “ปริมาณ” มีเพียงพอหรือไม่ มีปัญหาขาดแคลนหรือไม่ และ “ราคา” มีการปรับขึ้นหรือลดลงหรือไม่
         
โดยใน “ต่างจังหวัด” พาณิชย์จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้รับนโยบาย “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ลงพื้นที่ตรวจสอบเข้มงวด

ปัจจุบันมีข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. ถึงวันที่ 12 ก.ค.2565 ตรวจไปแล้ว 4,635 แห่ง แยกเป็นห้างสรรพสินค้า 1,613 แห่ง ร้านค้าปลีก-ส่ง 2,139 แห่ง และตลาดสด 883 แห่ง
         
ผลปรากฏว่า “สินค้ามีเพียงพอ” กับความต้องการในแต่ละพื้นที่ ไม่มีปัญหาการขาดแคลน
         
ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินการ “เอาผิด” กับผู้ที่ “กระทำความผิด” ทั้ง “การไม่ปิดป้ายแสดงราคา ค้ากำไรเกินควร” ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และคดีชั่งตวงวัด ทั้ง “โกงตาชั่ง ดัดแปลงเครื่องชั่ง” ตามพ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด แบบไม่ไว้หน้า ชนิดที่เรียกว่า “จับจริง ปรับจริง เอาติดคุกจริง
         
พร้อมกับตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่าย “น้ำมันปาล์มขวด” ควบคู่ไปด้วย ซึ่งหลาย ๆ จังหวัด ราคาเริ่มปรับตัวลดลง ตามต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวลง และเมื่อสต๊อกเก่าหมดลง
         
ขณะที่ในส่วนกลาง เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2565 “นายจุรินทร์” ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์สินค้าด้วยตัวเอง ที่ห้างแม็คโคร สาขานครอินทร์        
         
เป็นการไปตรวจสอบสถานการณ์ “ราคาน้ำมันปาล์มขวด” หลังจากที่ “ต้นทุนการผลิต” ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 
         


เป็นไปการไปตรวจสอบ หลังจากที่ได้มอบนโยบายให้ “กรมการค้าภายใน” ไปหารือกับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และห้างสรรพสินค้า ให้ปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดลงตามต้นทุน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ปรับขึ้น ตามต้นทุนที่สูงขึ้น
         
ผลการตรวจสอบ พบว่า “ราคาจำหน่ายปลีก” น้ำมันปาล์มขวด ได้ปรับลดลง 5-6 บาท เหลือ 62 บาทสำหรับแบบขวด และ 61 บาทสำหรับแบบถุง
         
เป็นการสะท้อน “การปรับลดราคา” ตามต้นทุนที่ลดลง ที่เกิดขึ้นจริง  
         
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ให้นโยบายในการพิจารณา “ปรับขึ้นราคาสินค้า” จะต้องมีการพิจารณา “ต้นทุน” อย่างละเอียด เพราะคาดคะเนได้อยู่แล้วว่า ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน ทั้งจากราคาพลังงาน น้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง และวัตถุดิบ

ทั้งนี้ ในการ “ปรับขึ้นราคา” ต้องดูให้รอบคอบที่สุด ละเอียดที่สุด ผู้ประกอบการต้องไม่ “ขาดทุน” จนไม่สามารถผลิตต่อไปได้ ไม่เช่นนั้น จะมี “ปัญหาใหม่” ตามมา นอกจากไม่สามารถปรับราคาได้แล้ว จะประสบปัญหา “ขาดทุน” และ “เลิกผลิต” ทำให้แทนที่จะมีปัญหา “ของแพง” กลายเป็นปัญหา “ของขาด” แทน  

นี่คือหลัก “วิน-วิน โมเดล” ที่จะนำมาใช้ เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค

แต่ถ้าต่อมา ต้นทุนลด “ต่ำลง” ก็ต้อง “ปรับลดราคา” ลงมาด้วย ไม่ใช่ “ขึ้นแล้วขึ้นเลย

นายจุรินทร์ ย้ำว่า เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะเข้าไปบริหารจัดการ ต้นทุนขึ้น ก็ให้ขึ้นตามความเหมาะสม ไม่เป็นภาระกับผู้บริโภคจนเกินไป แต่ถ้าต้นทุนลดลง ก็จะให้ปรับลดราคาลงมาด้วย
         
พร้อมระบุว่า น้ำมันปาล์มขวด เป็น “ตัวอย่าง” ที่ชัดเจนที่สุด ส่วนสินค้าตัวอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน ใช้หลักการเดียวกัน  
         


ก่อนอธิบายต่อว่า ราคาผลปาล์มดิบลดจาก 10-12 บาทในช่วงก่อนหน้านี้ในบางช่วง ลงมา 7-8 บาทในช่วงนี้ ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดลดลงมาด้วย ก็เลยเข้าไปดู เข้าไปบริหารจัดการ ให้ปรับลดราคาลงมา
         
แต่จะให้ปรับลดลงมาก ๆ ทันทีไม่ได้ เพราะยังมี “สต๊อกเก่า” ที่เป็นต้นทุนเก่าที่ยังสูงค้างอยู่ ก็ต้องให้โอกาสระบายสต๊อกเก่าให้หมดก่อน
         
เรียกว่า แฟร์ ๆ ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ก่อนที่จะมาถึงผู้บริโภค
         
อย่างที่ทราบกัน “รอบแรก” เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2565 น้ำมันปาล์มขวดได้ปรับลดราคาลงมาแล้ว 5-6 บาท และสัปดาห์นี้ คาดว่า จะมี “รอบ 2” ที่จะปรับลดลงอีก
         
แว่ว ๆ มาว่า “กรมการค้าภายใน” ได้ไปพูดคุยกับผู้ผลิต ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้ามาแล้ว ตกลงกันว่า น่าจะลดราคาลงได้อีก “2-3 บาท” ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะลดราคามากน้อยต่างกัน ตามต้นทุน และสต็อกที่มีอยู่
         
เป็นอีกหนึ่ง “ข่าวดี” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้
         
ส่วนจะ “วันไหน” และ “เวลาใด” เดี๋ยว “กระทรวงพาณิชย์” คงจะแจ้งข่าวให้ทราบ
         
ไม่แน่ “นายจุรินทร์” อาจจะแจ้งข่าวดีนี้ด้วยตัวเอง ก็ได้ ขอให้อดใจรออีกนิด
         
แต่ที่เห็นชัด ๆ และ “จับต้อง” ได้  

พาณิชย์” ยุคนี้ สินค้า “ขึ้นได้” ก็ต้อง “ลงได้”  

ไม่มีประเภท “ขึ้นแล้ว ขึ้นเลย
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด