​ลุ้นน้ำมันปาล์มขวดลดราคา

img

จากการติดตามสถานการณ์ราคา “ผลปาล์มดิบ” ในปัจจุบัน พบว่า “เริ่มปรับตัวลดลง” หลังจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และอินโดนีเซียกลับมาส่งออกเต็มสูบ
         
โดยราคาเฉลี่ยในแหล่งเพาะปลูกปาล์มสำคัญ 3 จังหวัด สุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร อยู่ที่ 7.30-7.80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)

ราคาดังกล่าว แม้ว่าจะปรับลดลงจากที่เคยพุ่งไปสูงสุดที่ 12.10 บาทต่อกก. เมื่อช่วงเดือนพ.ค.2565 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับ “สูง” และเกษตรกรชาวสวนปาล์มยังขายผลผลิตได้ “คุ้มต้นทุน” และ “มีกำไร

ส่วนราคา “น้ำมันปาล์มดิบ (CPO)” ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ 42.5-43.5 บาทต่อกก. จากที่เคยขึ้นไป 62-63 บาทต่อกก. เมื่อช่วงเดือนพ.ค.2565 เช่นเดียวกัน
         
การปรับลดลง” ของผลปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มดิบดังกล่าว แน่นอนว่า อาจจะกระทบต่อรายได้ของ “เกษตรกรชาวสวนปาล์ม” ที่จะลดลงบ้าง

แต่อีกด้าน กำลังจะเป็น “ข่าวดี” ของผู้บริโภค เพราะ “ต้นทุน” การผลิต “น้ำมันปาล์มขวด” ลดลง
         
ปัจจุบัน จากการสำรวจตลาด ราคาน้ำมันปาล์มขวดเฉลี่ยยังอยู่ที่ขวดละ 69-70 บาท ใกล้เคียงกับช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้  
         
เป็นสินค้าใน “กลุ่มปาล์มน้ำมัน” ที่ยังไม่ “ปรับลดลง” ทั้ง ๆ ที่ควรจะ “ลดลง” ตามต้นทุน
         
ทั้งนี้ หากดูตามหลัก “โครงสร้างราคา” ที่ใช้ในการ “คำนวณราคาน้ำมันปาล์มขวด” แบบคร่าว ๆ



ยกตัวอย่างเช่น ราคา “ผลปาล์มดิบ” อยู่ที่ 7.50-7.80 บาทต่อกก. ราคา “น้ำมันปาล์มดิบ (CPO)” จะอยู่ที่ประมาณ 42.50-43.50 บาทต่อกก. และราคา “น้ำมันปาล์มขวด” จะอยู่ที่ 57.25-58.75 บาท
         
ถ้าดู “ราคาปัจจุบัน” ตามต้นทุนข้างต้น กับ “ราคาที่ควรจะเป็น” เห็นว่า น้ำมันปาล์มขวด ยังมีส่วนต่างสูงถึง 10-12 บาท

ตรงจุดนี้ ต้องไปตรวจสอบดูว่า “ทำไมราคาถึงยังไม่ลดลง” ทั้ง ๆ ที่ “ต้นทุน” ลดลงแล้ว

กำไร” ตรงนี้ ไปอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร มีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่

เป็นหน้าที่ของ “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม” ที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย ภาครัฐ ตัวแทนเกษตรกร และตัวแทนเอกชน เช่น โรงสกัด โรงกลั่น ผู้ผลิตเอทานอล และคลังรับฝาก จะต้องไป “ตรวจสอบ” และ “หาคำตอบ” ให้ได้

เพราะหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ก็คือ การติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ราคา รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม การค้า และการบริโภคในประเทศ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการจัดสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศให้มีเพียงพอ และมีปริมาณคงเหลืออยู่ในระดับที่เหมาะสม  
         
ไม่เช่นนั้น จะถูก “ตั้งคำถาม” ได้ว่า “ไม่ทำหน้าที่” 
         
อย่างไรก็ตาม ต้องให้ “ความเป็นธรรม” กับ “ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวด” เพราะในช่วงที่ราคาผลปาล์มดิบสูง ๆ ราคาน้ำมันปาล์มดิบสูง ๆ ราคาน้ำมันปาล์มขวดจริง ๆ ควรขยับขึ้นไปอยู่ที่ขวดละ 76 บาท แต่ก็ถูก “กระทรวงพาณิชย์” ขอความร่วมมือให้ขายอยู่แถว ๆ 65-70 บาท แล้วแต่ว่า พื้นที่ใกล้ ไกล
         


ตอนนั้น ผู้ผลิต ก็ “กลืนเลือด” และ “เข้าเนื้อ” เพื่อไม่ให้ “ผู้บริโภค” รับภาระมากจนเกินไป
         
ตอนนี้ ถ้าผู้ผลิตทวงคืน “ผลขาดทุน” หรือกลับมา “เท่าทุน” และเริ่ม “มีกำไร” แล้ว ก็ควรจะคืน “กำไร” ให้กับผู้บริโภคบ้าง
         
ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน เข้าสู่ยุค “ของแพง” แพงทั้ง “น้ำมัน” แพงทั้ง “อาหารบริโภค” ถ้าต้นทุนน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการ “ปรุงอาหาร” ปรับลดลง

เชื่อว่า “ราคาอาหาร” น่าจะ “ทรงตัว” และ “ไม่ปรับเพิ่มขึ้น” อีก

หรือเผลอ ๆ อาจจะ “ลดลง” ก็ได้ ซึ่งต้องลุ้นกันต่อ เพราะยังมีต้นทุนอื่น ๆ ในการปรุงอาหาร ทั้งเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส ที่ยังเป็นปัจจัยกดดันอยู่

เรื่อง “อาหารปรุงสำเร็จ” ก็ว่ากันไป ติดตามกันต่อไป

จากนี้ ต้องจับตาเรื่อง “น้ำมันปาล์มขวด” ที่ต้องรอลุ้นว่า “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม” จะบริหารจัดการยังไง อย่างไร ที่จะสมประโยชน์ทุกฝ่ายตามนโยบาย “วิน-วิน โมเดล”  

แต่ “เชื่อขนมกิน” ได้เลย “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” คงไม่ปล่อยผ่าน
         
เพราะดูสถานการณ์ ณ ตอนนี้ “ต้นทุนการผลิต” น้ำมันปาล์มขวดลดลงแล้ว และลดเยอะเสียด้วย
         
อยู่แค่ว่า จะประกาศ “ข่าวดี” ช้าหรือเร็ว ก็แค่นั้น
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด