
สัปดาห์ที่ผ่านมา “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ได้จัดแถลงข่าว “การผลักดันการค้าระหว่างประเทศเชิงรุก ปี 2565”
การแถลงข่าวครั้งนี้ “นายภูสิติ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” นำทีมพูดคุยกับสื่อมวลชน พร้อมด้วยรองอธิบดีอีก 3 ท่าน ได้แก่ นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ , นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ และนางอารดา เฟื่องทอง”
สำหรับทิศการส่งออกในปี 2565 นายภูสิต บอกว่า “ยังมีแนวโน้มขยายตัว” แม้จะชะลอตัวจากผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาด
ประเมินว่า “จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3-4%” มูลค่าประมาณ 8.98–9.07 ล้านล้านบาท
สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินที่ 3.5% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ 3-5% และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยที่ 5-8%
โดยการขับเคลื่อนการส่งออกให้ได้ตามเป้า นายภูสิต แจ้งว่า ได้เตรียม “กิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออก” ไว้ทั้งสิ้น 152 กิจกรรม ดำเนินการในตลาดหลัก ตลาดรอง และตลาดใหม่ เป็นแบบผสมผสาน ทั้ง “ออนไลน์-ออฟไลน์”
ยกตัวอย่างเช่น การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ทุกสินค้า การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Virtual / Online Exhibition การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การส่งเสริมและผลักดันการส่งออกเป็นรายสินค้า รายกลุ่มสินค้า การจัดเทศกาลส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยในจีน การขับเคลื่อน BCG Model การผลักดัน Soft Power การพัฒนา SMEs เข้าสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการทำ “Mini FTA” กับรัฐ เมือง และมณฑลใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
นายภูสิต ระบุว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ที่ต้องการ “ทำความร่วมมือทางการค้าเชิงลึก” ระหว่างไทยกับรัฐ เมือง และมณฑลต่างๆ ที่มีศักยภาพ
ที่สำคัญ จะช่วยเพิ่มโอกาสทาง “การค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ” ให้กับผู้ประกอบการของไทยได้อย่างรวดเร็ว
เพราะการทำ FTA ส่วนใหญ่ใช้เวลาเจรจากันนาน เป็นปี หลายปี กว่าจะสำเร็จ
แต่ถ้าเป็น Mini FTA หรือความตกลงการค้าที่ทำกัน 2 ฝ่าย จะทำได้ “เร็วขึ้น” เปิด “ประตู” อำนวยความสะดวกการค้าได้ “ไวขึ้น”
สำหรับผลงานในปีที่ผ่านมา ถือว่าเริ่มต้นได้สวย ได้มีการลงนาม Mini FTA กับ “เมืองโคฟุ” ประเทศญี่ปุ่น ร่วมมือเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ลงนามกับ “มณฑลไห่หนาน” ของจีน ร่วมมือด้านการค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า และอีคอมเมิร์ซ
ผลที่เกิดขึ้นจากการทำ Mini FTA กับโคฟุ ได้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์กันไปแล้ว ประสบความสำเร็จในการค้าขายเป็นอย่างมาก
กับไห่หนาน ได้เจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกวันที่ 13-17 ม.ค.2564 จับคู่ได้ 38 คู่ เกิดมูลค่าซื้อขายใน 1 ปี 43.05 ล้านบาท และครั้งที่ 2 วันที่ 20-21 ม.ค.2565 ตอนนี้กำลังรวบรวมตัวเลข คาดว่า มูลค่าน่าจะทำได้ดีเช่นเดียวกัน
ส่วนปี 2565 นายภูสิต ให้ข้อมูลว่า มีรัฐ เมือง และมณฑล ที่อยู่ในเป้าหมายการทำ Mini FTA อีกหลายประเทศ
ที่ใกล้จะสำเร็จแล้ว ก็คือ “รัฐเตลังกานา” ของอินเดีย โดยล่าสุดรัฐบาลอินเดียอยู่ระหว่างการพิจารณาถ้อยคำของบันทึกความตกลง (MOU) คาดจะพิจารณาเสร็จและส่งกลับมาให้ไทยได้เร็ว ๆ นี้
จากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ คาดว่า จะลงนามร่วมกันได้ประมาณเดือนมี.ค.2565
เป้าหมายอื่น ๆ ก็มี “เมืองปูซาน” ของเกาหลีใต้ และ “มณฑลกานซู่” ของจีน ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้งวดเข้ามาแล้ว
ขณะเดียวกัน ยังมี Mini FTA ที่เสนอให้ทำโดย “ภาคเอกชน” เพราะเอกชนมองว่า “เป็นโอกาส” ในการขยายการค้า การลงทุน
เริ่มจาก “เกียวโต” ของญี่ปุ่น เน้นความร่วมมือสินค้าเฟอร์นิเจอร์
“เซี่ยงไฮ้” ของจีน เน้นความร่วมมือสินค้าอาหาร
“เซินเจิ้น” ของจีน เน้นความร่วมมือด้านการค้า
“อาบูจา” ของไนจีเรีย เน้นความร่วมมือสินค้าเครื่องสำอาง สมุนไพร
“โจฮันเนสเบิร์ก” ของแอฟริกาใต้ เน้นความร่วมมือสินค้าอาหาร สมุนไพร อาหารธรรมชาติ และสุขภาพ
เรียกว่า “มีเป้าหมาย” เอาไว้ให้พุ่งชนเป็นจำนวนมาก
ก็ขอให้ทำสำเร็จโดยเร็ว
เพราะยิ่งเร็วเท่าไร โอกาสในการขยายการค้าให้กับไทย ก็มีมากขึ้นเท่านั้น
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง