​ไทยเนื้อหอมคู่ค้าเอาด้วยเร่ง FTA

img

ช่วง 1-2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค.2567 ที่ผ่านมา “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้พบปะกับ “รัฐมนตรีการค้า” และ “เอกอัครราชทูต” จากหลายประเทศ
         
ประเด็น” ที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือ ส่วนใหญ่เน้นการ “สานต่อ” และ “ขยายความร่วมมือ” ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างกัน

แต่ที่มีการ “เน้นหนัก” และ “เห็นพ้องต้องกัน” อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การผลักดันการเจรจา “ความตกลงการค้าเสรี (FTA)” ที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้สามารถ “ปิดดีล” ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 
         
เริ่มจาก 13 มี.ค.2567 พบกับ “นายเปโตร สวาเล็น เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิส ประจำประเทศไทย” ได้เห็นพ้องที่จะเดินหน้าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ทูตสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ได้ยืนยันที่จะ “สนับสนุนอย่างเต็มที่” เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจา “FTA ไทย-เอฟตา” ได้ตามเป้าภายในปี 2567 นี้
         
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากทำสำเร็จ FTA ฉบับนี้ จะเป็น “FTA ฉบับแรก” ที่ไทยทำกับ “กลุ่มประเทศในยุโรป”  
         
ต่อมา วันที่ 27 มี.ค.2567 ได้พบกับ “นายบิลเล ตาบีโอ รัฐมนตรีด้านการค้าต่างประเทศและการพัฒนา กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์” โดยการหารือเน้นเรื่องสานต่อความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และได้ “เน้นย้ำ” และ “ให้ความสำคัญ” กับการเจรจา “FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)” ที่สถานะปัจจุบัน เจรจากันไปแล้ว 2 รอบ ล่าสุด เดือน ม.ค.2567 และกำหนดรอบต่อไปช่วงปลายเดือน มิ.ย.2567 โดยฟินแลนด์ในฐานะสมาชิกอียู จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเจรจาสรุปผลได้ภายใน 2 ปี ตามเป้าที่กำหนดไว้
         


วันเดียวกันนี้ ยังได้หารือกับ “นายปาเวล ปีเตล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย” สรุปจะร่วมมือกัน “ผลักดัน” และ “สานสัมพันธ์” ให้แน่นแฟ้นในทุกมิติทั้งด้านการค้า ลงทุน ความร่วมมือเศรษฐกิจ และที่ “พลาดไม่ได้” ก็คือ การเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งเช็กในฐานะสมาชิกอียู ยืนยันที่จะสนับสนุนการเจรจาให้สำเร็จตามเป้า เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
         
จากนั้น ได้พบกับ “ลอร์ด โดมินิค จอห์นสัน รัฐมนตรีด้านการลงทุน กระทรวงธุรกิจและการค้าสหราชอาณาจักร”  และ “นายมาร์ก กุดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย” ได้เน้นย้ำ “ความพร้อม” ในการลงนาม MOU ว่าด้วย “การเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (Enhanced Trade Partnership : ETP)” ในการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ครั้งที่ 2 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 31 พ.ค.2567
         
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจาก ETP จะช่วยขับเคลื่อน “ความร่วมมือ” ในสาขาที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน เช่น เกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ดิจิทัล มาตรฐานสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
         
ที่สำคัญ จะเป็นการ “ต่อยอด” สู่การพิจารณาจัดทำ “FTA ไทย–สหราชอาณาจักร” ในอนาคต
         
วันที่ 28 มี.ค.2567 นายภูมิธรรมได้เป็น “สักขีพยาน” การลงนามจัดทำ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี” ระหว่าง “น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” กับ “นายคอนกี โร Deputy Minister for Trade Negotiation กระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและพลังงาน ของสาธารณรัฐเกาหลี” ซึ่งถือเป็นการ “คิกออฟ” เปิดเจรจา FTA ไทย-เกาหลีอย่างเป็นทางการ
         
โดยคาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มการเจรจารอบแรกภายในกลางปีนี้ และตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 หรือต้นปี 2569
         
นายภูมิธรรม บอกว่า การเปิดเจรจา FTA ไทย-เกาหลีนี้ ถือเป็นการคิกออฟเปิดเจรจา FTA กับคู่ค้าเป็นประเทศแรกภายใต้รัฐบาลชุดนี้ และในยุคที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ได้ให้ไว้ว่าจะเร่งเปิดตลาดการค้า การลงทุนให้กับไทย โดยใช้ FTA เป็นหัวหอก
         


จากนี้ ยังได้ให้นโยบาย “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ให้เร่งเปิดเจรจา FTA กับคู่ค้าใหม่ ๆ ให้ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ตรวจสอบ พบว่า มีประเทศที่อยู่ใน “เป้าหมาย” จำนวนมาก เช่น ไทย-ภูฏาย ไทย-อิสราเอล ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-กลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ไทย-สหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) ไทย-ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Mercosur) และไทย-กลุ่มประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC)

สถานะตอนนี้ มีทั้งศึกษา เริ่มรับฟังความคิดเห็น เริ่มวางกรอบการเจรจา เริ่มพูดคุยกับประเทศเป้าหมาย

ส่วน FTA ที่ต้อง “จับตา” ทั้งที่อยู่ระหว่างการเจรจา หรือเจรจากันมาระยะหนึ่งแล้ว หรือเจรจากันใกล้จบแล้ว ก็คือ ไทย-เอฟตา ไทย-อียู อาเซียน-แคนาดา ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไทย-ตุรกี และไทย-ปากีสถาน ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบ ทั้ง 6 ฉบับนี้ ไทยมีความมุ่งหวังที่จะ “ปิดดีล” ให้ได้ทั้งหมด แต่ “บางฉบับ” ก็ขึ้นอยู่กับคู่ค้าด้วยว่า “จะเอาด้วยหรือไม่”  

จากสถานะการเจรจา FTA ข้างต้น จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่ไทย ที่ต้องการทำ “FTA กับคู่ค้า” แต่คู่ค้า ก็สนใจที่จะทำ  “FTA กับไทย” เช่นเดียวกัน

แล้วยิ่งตอนนี้ ทั้ง “นโยบายรัฐบาล-นโยบายนายภูมิธรรม” ต่างให้ความสำคัญกับการทำ FTA เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับไทยเหนือคู่แข่ง และใช้ FTA เป็น “ใบเบิกทาง” และใช้เป็น “ประตู” เปิด “การค้า-การลงทุน” ให้กับไทย

สองแรงแข็งขัน” ทั้งนโยบายรัฐ “หนุน” และคู่ค้า “เอาด้วย” แบบนี้

เชื่อว่าจากนี้ ไทยจะมี “FTA ฉบับใหม่ ๆ” เกิดขึ้นอีกมาก

มาติดตามดู “ความสำเร็จ” ไปพร้อม ๆ กัน  
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง