เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2566/67” จะไม่มีทั้งนโยบาย “จำนำข้าว” และนโยบาย “ประกันรายได้”
เพราะได้รับ “คำยืนยัน” จากเจ้ากระทรวงอย่าง “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สาเหตุก็อย่างที่รู้ ๆ กัน “จำนำข้าว” เคยสร้างปัญหามาก่อน จะทำต่อ ก็กลัว “ประวัติศาสตร์” จะซ้ำรอย ส่วน “ประกันรายได้” ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว จะสานต่อก็ดูกระไรอยู่
จึงต้อง “ปิดฉาก” ไปทั้ง 2 นโยบาย
เมื่อไม่มีทั้งจำนำข้าวและประกันรายได้ ทำให้เกิด “ความกังวล” ในหมู่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ว่า รัฐบาลจะมีมาตรการใดที่จะนำมาใช้ในการดูแลราคาข้าวเปลือก
ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว “นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” ได้ออกมายืนยันแล้วว่ามาตรการดูแลราคาข้าวเปลือก จะยังคงมีอยู่ และกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง “ชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก” ก่อนที่จะนำเสนอให้ “คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 1 พ.ย.2566
ต่อมา “นายภูมิธรรม” ได้เป็นผู้ออกมา “เฉลย” ว่า จะมีมาตรการใดบ้าง
โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ดูแลราคาข้าวเปลือกปี 2566/67 มีอยู่ทั้งสิ้น 4 มาตรการ ได้แก่
1.การเก็บสต๊อกเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อชะลอข้าวเปลือก เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วย 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี
2.ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน
3.สินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1%
4.ช่วยลดต้นทุนการผลิต หรือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท
ทั้ง 4 มาตรการนี้ จะถูกขับเคลื่อนทันที เมื่อ นบข. พิจารณาอนุมัติ
สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 “สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)” คาดว่า จะมีปริมาณ 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.871 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลง 3.27%
ส่วนสถานการณ์ความต้องการข้าวในตลาดโลก “กรมการค้าต่างประเทศ” ประเมินว่า จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความกังวลการเกิดปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ที่ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย และหลายประเทศต้องการเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร ขณะที่ผลผลิตข้าวของจีนลดลง และอินเดียยังคงระงับการส่งออกข้าวขาว
จากปรากฎการณ์ ทั้งผลผลิตข้าวที่ “ลดลง” และแนวโน้มความต้องการข้าวที่ “สูงขึ้น” ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อ “ราคาข้าว” ในประเทศ แต่ยังส่งผลดีต่อ “ความต้องการ” ซื้อข้าวไทยที่จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
นั่นหมายความว่า สถานการณ์ด้านราคาข้าวเปลือกของผลผลิตฤดูกาลผลิตปี 2566/67 น่าจะ “เบาใจ” ได้ไปเปราะหนึ่ง
ยิ่งมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก 4 มาตรการ ที่กำลังถูกนำเสนอให้ นบข. พิจารณา ก็ยิ่งเป็นการสร้าง “หลักประกัน” ให้กับเกษตรกรว่าจะ “ได้รับการดูแล” แม้ช่วงที่ผลผลิตข้าวออกมามาก ก็จะบริหารจัดการได้
นายภูมิธรรม ระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ “ผลผลิต” เเละ “ราคาข้าวเปลือก” มาโดยตลอด เเละได้รับฟัง “เสียงสะท้อน” จากพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งโรงสีและผู้ส่งออก เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณาจัดทำมาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ที่จะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.2566 เป็นต้นไป เพื่อช่วยดูแลเสถียรภาพราคาข้าวให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ นายภูมิธรรมยังมั่นใจว่ามาตรการที่ให้เกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการ ช่วยเก็บสต๊อกและเสริมสภาพคล่อง จะทำให้ราคาข้าวเปลือกในฤดูกาลนี้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะที่เสียงตอบรับจาก “เกษตรกร-โรงสี-ผู้ส่งออก” เห็นว่า เป็นมาตรการที่น่าจะ “เอาอยู่”
ที่สำคัญ ยังคงมี “ไร่ละ 1,000” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “เกษตรกร” ต้องการ เพราะช่วย “ลดต้นทุนการผลิต” และช่วย “เพิ่มสภาพคล่อง” ของเงินในกระเป๋า
ก็ขอแสดงความ “ยินดี-ดีใจ” กับเกษตรกรล่วงหน้า ที่ผลผลิตข้าวปี 2566/67 ยังคงได้รับการดูแล
บวกกับสถานการณ์ตลาดโลกเอื้ออำนวย “ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ” ดูแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้น
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็เป็นเพียงการ “คาดเดา” ของผู้เขียน
เพราะ “สถานการณ์ด้านราคา” น่าจะเห็นภาพชัดเจน ก็ตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 เป็นต้นไป ที่ผลผลิตข้าวจะเริ่มออกสู่ตลาด
ตอนนั้น มา “ติดตาม” ดูกันว่า 4 มาตรการ จะ “เอาอยู่” จริงหรือไม่
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง