​แผนส่งออก สู้เศรษฐกิจปี 66 ชะลอตัว

img

มีการประเมินกันไว้ว่า ปี 2566 ที่จะถึงนี้ จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ “เศรษฐกิจ” ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
         
เพราะได้รับผลกระทบจาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ยังยืดเยื้อ ผลกระทบจาก “น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ” ที่ปรับตัวสูงขึ้น ผลกระทบจาก “สินค้ากลุ่มอาหาร” ที่สูงขึ้น จนทำให้ “เงินเฟ้อ” ปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก  
         
ทำให้ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)” คาดว่า “เศรษฐกิจโลก” จะขยายตัวได้ลดลงเหลือ 2.7% จากที่ปี 2565 ที่ประเมินไว้ว่าจะขยายตัว 3.2%
         
การ “รับมือ” ในเรื่องนี้ หน่วยงาน “มันสมอง” ของ “กระทรวงพาณิชย์” อย่าง “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” และหน่วยงานปฏิบัติ อย่าง “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ได้ร่วมกันเตรียม “แผน” และ “มาตรการ” รับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว
         
ล่าสุด ได้มีการนำเสนอให้ที่ประชุม “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์)” ที่มี “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” เป็นประธาน ร่วมกันพิจารณา
         
ที่ประชุม มองว่า นอกจากเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่จะขยายตัวได้ลดลงแล้ว “การส่งออก” ก็น่าจะเริ่มมีปัญหา จากที่เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และ “ตลาดจีน” ที่เป็นคู่ค้าลำดับหนึ่ง และตลาดส่งออกลำดับที่ 2 ของไทย ก็ยังไม่รู้ว่าทิศทางจะเป็นยังไง จากนโยบายซีโร่โควิด และ “อัตราแลกเปลี่ยน” ที่ยังมีความผันผวน หาก “อ่อนค่า” มากเกินไป ก็จะกระทบต่อ “ต้นทุน” การนำเข้าวัตถุดิบหลาย ๆ อย่างได้
         
นายจุรินทร์ บอกว่า เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือ ได้มีมติให้ตั้ง “วอร์รูม กรอ.พาณิชย์” ขึ้นมา ประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนทั้งหมด เพื่อ “ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด” ตลอดปี 2566 เพื่อให้ “การส่งออก” ปีหน้า ตัวเลขยังคง “ดีที่สุด” เท่าที่จะจับมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนของไทยเดินหน้าไปด้วยกันได้
         
แผนที่จะ “นำมาใช้” เบื้องต้น จะ “โฟกัส” 3 ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ คือ “ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV
         


โดย 3 ตลาดนี้ ในปี 2565 คาดว่าจะมียอดการส่งออกรวมประมาณ “1.7 ล้านล้านบาท” และปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น “2 ล้านล้านบาท” หรือเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนล้านบาท
         
เพื่อทำ “รายได้” ให้ประเทศ และ “ชดเชย” รายได้ที่ “อาจจะ” สูญเสียไปในตลาดอื่น ๆ ที่เศรษฐกิจชะลอตัว
         
ทั้งนี้ ตลาด “ตะวันออกกลาง” จะมุ่ง 3 ตลาดหลัก คือ “ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการ์ตา” สินค้าเป้าหมายสำคัญ คือ “อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและวัสดุก่อสร้าง” เป็นต้น ตั้งเป้าปี 2566 เพิ่มตัวเลขส่งออก 3 ประเทศนี้ 20% จาก “8,900 ล้านเหรียญสหรัฐ” ในปี 2565 เป็น “10,300 ล้านเหรียญ” ในปี 2566 หรือประมาณ 350,000 ล้านบาท
         
ตลาด “เอเชียใต้” จะเน้นประเทศสำคัญ 3 ประเทศ คือ “อินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล” สินค้าสำคัญ เช่น “เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์” เป็นต้น ตั้งเป้าส่งออกปี 2566 ใน 3 ประเทศ เพิ่มขึ้น 10% เพิ่มจากปีนี้ที่ “12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ” เพิ่มเป็น “13,200 ล้านเหรียญ” ในปี 2566 หรือประมาณ 450,000 ล้านบาท
         
ตลาด “CLMV” ประกอบด้วย “กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม” สินค้าเป้าหมายสำคัญ เช่น “วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม” และยังจะ “เร่งรัดส่งออก” ผ่าน “การค้าชายแดน” เน้นสินค้า “อาหาร ผลไม้ ผักและสินค้าอื่น ๆ” ตั้งเป้า เพิ่ม 10-15% จาก “28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ” ในปี 2565 เป็น “33,500 ล้านเหรียญสหรัฐ” ในปี 2566 หรือประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีแผน “จัดคณะผู้แทนการค้า” ทำหน้าที่เป็น “เซลส์แมน” เดินทางไป “ค้าขาย” กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เบื้องต้น “เล็งไว้” 3 ประเทศ
         
เริ่มจาก “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ตั้งเป้าจะให้เป็น “ประตูการค้า” ที่สำคัญอีกประตูหนึ่ง นอกจาก “ซาอุดิอาระเบีย” ที่จะใช้ส่งสินค้าไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง



อินเดีย” จะเน้นขยายตลาด “รัฐคุชราต” เมือง “อาห์เมดาบัด” ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดีย และมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

มณฑลยูนนาน” ของจีน จะเดินทางไปเจรจาเพื่อ “อำนวยความสะดวก” การส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านมณฑลยูนนาน และจะเร่งรัดทำ “Mini FTA” เพราะเป็น “ที่ตั้ง” ของ “ด่านสำคัญ” คือ “ด่านโม่ฮาน” ที่ขณะนี้รัฐบาลจีนเห็นชอบเปิดด่านได้แล้ว  

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังได้ “สั่งการ” ไม่ให้รอการเจรจาทำ FTA เพราะ “ยิ่งรอ ยิ่งช้า” โดยเฉพาะ “อังกฤษ” ก็ให้หาทางไปเจรจาทำ Mini FTA กับ “เมือง” หรือ “เขตเศรษฐกิจสำคัญ” ของอังกฤษ เป็นการเร่งด่วนไปก่อน

ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่าง “ปากีสถาน” ให้หาทางทำกับ “เมืองลาฮอร์” ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ หรือ “กลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC)” ก็ให้หาทางเจรจาทำ Mini FTA ไม่ต้องรอทำ FTA เพราะจะช่วยเรื่อง “การส่งออก” ได้เร็วขึ้น
         
ทั้งหมดนี้ คือ “แผนเบื้องต้น” ที่ได้ตระเตรียมไว้ใช้รับมือกับ “เศรษฐกิจถดถอย” ในปี 2566 แต่ไม่ได้ “หมดเพียงเท่านี้
         
“กระทรวงพาณิชย์” บอกว่า จะมี “แผน” และ “มาตรการ” ออกมาเรื่อย ๆ ตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
         
ซึ่งไม่เพียงแค่ “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า” และ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ที่ได้ร่วมกันทำแผน “ขับเคลื่อนการส่งออก” ออกมาแล้วเท่านั้น
         
แต่กรมต่าง ๆ ในกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัดทำแผนและมาตรการรับมือไว้แล้วเช่นเดียวกัน เพราะรู้ดีว่า “ผลพวง” จาก “เศรษฐกิจชะลอตัว” จนทำให้เกิดภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ไปทั่วโลก ถ้าหากอยู่ “นิ่งเฉย” ก็จะ “ยิ่งแย่” แต่ถ้า  “รุกเร็ว” และ “ลุยเร็ว” จากที่จะเป็น “วิกฤต” ก็จะกลายเป็นสร้าง “โอกาส” ได้
         
ตอนนี้ ก็คงต้องรอ ว่า แผน “ขับเคลื่อน” เศรษฐกิจทั้ง “ในประเทศ” และ “ต่างประเทศ” ภาพรวมของ “กระทรวงพาณิชย์” หน้าตาจะเป็นยังไง
         
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด