​“จตุพร”สั่งทูตพาณิชย์ เร่งหาตลาดส่งออกสู้ภาษีทรัมป์ “ฉันทวิชญ์”จี้เข้มใช้วัตถุดิบในประเทศ

img

“จตุพร”สั่งการทูตพาณิชย์ เร่งหาตลาดส่งออกอื่นรองรับผลกระทบการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เผยหากภาษีคงเดิม รับได้ส่งออกไม่เป็นไปตามเป้า แต่มั่นใจรัฐบาลเจรจาให้ปรับลดลงมาได้แน่ “ฉันทวิชญ์” ยันสหรัฐฯ เข้มเรื่องการใช้วัตถุดิบในประเทศ เตรียมมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เบื้องต้นพบ 10-15 อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง ลั่นไม่ได้ผลักจีนออกจากห่วงโซ่การผลิตของไทย แย้มไทยลดภาษีนำเข้าเป็น 0% กว่า 90% ส่วนสินค้าอ่อนไหว ยึดหลักรอบคอบ
         
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือถึงการเยียวยาทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บจากไทยในอัตรา 36% ไว้แล้ว และยังได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ เร่งหาตลาดส่งออกอื่น ๆ รองรับไว้ด้วย ส่วนการส่งออกของไทยในปีนี้ หากอัตราภาษียังคงเป็นระดับเดียวกับปัจจุบัน ยอมรับว่าจะได้รับผลกระทบ และหากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็ยอมรับได้ เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากไทย เกิดจากประเทศคู่ค้า แต่รัฐบาลก็กำลังพยายามเร่งเจรจากับสหรัฐฯ อยู่ เพื่อให้ปรับลดอัตราภาษีลงมา
         
ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญกระทรวงพาณิชย์ ไปหารือรายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐฯ และการป้องกันสินค้าจากประเทศอื่นสวมสิทธิ์สินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก  
         
นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า ยืนยันว่าไทยต้องเข้มงวดการใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเร่งจัดทำมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มข้น เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบในประเทศที่ถูกต้อง ชัดเจน น่าเชื่อถือได้ เพื่อใช้ประกอบการเจรจากับสหรัฐฯ โดยขณะนี้ ได้ขอข้อมูลสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศจากภาคอุตสาหกรรมมาแล้ว พบว่า มี 10-15 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศน้อยกว่าจากต่างประเทศ
         


สำหรับการกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบสำหรับสินค้าที่จะส่งออก สหรัฐฯ ได้กำหนดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.วัตถุดิบของไทย วัตถุดิบที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มาผลิตเป็นสินค้าส่งออก และวัตถุดิบจากประเทศพันธมิตรที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ต่ำกว่าไทย ภายใต้หลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนมูลค่าการผลิตในประเทศและภูมิภาค (Regional Value Content : RVC) 2.วัตถุดิบจากจีน และ 3.วัตถุดิบจากประเทศอื่นที่ไม่อยู่ใน 2 กลุ่มแรก ซึ่งไทยต้องพิจารณาการใช้สัดส่วนวัตถุดิบอย่างละเอียด รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก
         
“อยากให้คนไทยอย่ากังวลกับการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ และมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะมีทิศทางที่จะเจรจาได้ และเป็นประโยชน์กับประเทศแน่นอน แม้ว่าหลายอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ แต่รัฐบาลจะยึดหลักประโยชน์ของประเทศและหลักควาสมดุลของการค้ากับทุกกลุ่มประเทศที่ไทยทำการค้าด้วย โดยไม่เอียงไปประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะการค้ากับจีน ไทยจะไม่ผลักจีนออกจากการเป็นห่วงโซ่อุปทาน เพราะไทยกับจีนมีความสัมพันธ์การค้ามายาวนานเช่นเดียวกับสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ซึ่งไทยก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับจีนและประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ให้เข้าใจ”นายฉันทวิชญ์กล่าว
         
ส่วนกรณีที่ไทยยื่นข้อเสนอลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯ เป็น 0% ไทยได้เสนอไป 90% ของรายการสินค้า หรือกว่า 10,000 พิกัดรายการ โดยเป็นสินค้าที่ขายกันทั่วโลก และเป็นสินค้าสินค้าที่ไทยเปิดเสรีกับประเทศอื่นอยู่แล้ว ส่วนอีก 10% เป็นสินค้าอ่อนไหว ซึ่งรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม แต่จะพิจารณาให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง