
กรมการค้าต่างประเทศเผยมาเลเซียปรับปรุงกฎระเบียบด้านอาหารใหม่ เพิ่มความเข้มงวดอาหารที่นำเข้า ต้องผลิตจากโรงงานที่ผ่านการรับรองความปลอดภัยจากสาธารณสุขมาเลเซีย ผู้นำเข้าต้องแสดงหลักฐานการปฏิบัติตามข้อกำหนด และอาจมีการตรวจสอบโรงงานในประเทศผู้ส่งออก คาดบังคับใช้ภายใน 6 เดือน หลังประกาศอย่างเป็นทางการ แนะผู้ส่งออกไทยศึกษา ปรับตัว ป้องกันการส่งออกปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาทกระทบ
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มาเลเซียได้ประกาศปรับปรุงกฎระเบียบด้านอาหาร (Food Regulations 1985) โดยกำหนดให้สินค้าอาหารนำเข้าต้องผลิตมาจากโรงงานที่ผ่านการรับรองระบบความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety Assurance Programme) ภายใต้หลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย และผู้นำเข้าต้องแสดงหลักฐานการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว มิฉะนั้นอาจถูกปฏิเสธการนำเข้า เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารนำเข้าให้ทัดเทียมกับอาหารที่ผลิตในประเทศ
โดยกฎระเบียบด้านอาหารที่ปรับปรุงใหม่ ประกอบด้วย 1.โรงงานผลิตอาหารที่ส่งออกไปยังมาเลเซียต้องมีระบบรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งได้รับการรับรองจากโครงการความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร (Food Safety and Quality Programme) กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย
2.ข้อกำหนดใหม่สอดคล้องกับกฎระเบียบสุขอนามัยอาหารของมาเลเซีย (Food Hygiene Regulations 2009) ที่บังคับใช้กับผู้ผลิตในประเทศ
3.ระบบรับรองความปลอดภัยต้องครอบคลุมถึง การจัดการระบบความปลอดภัย (Food Safety Management: FSSM) การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (Hazard Analysis and Critical Control Point System: HACCP) และการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice: GMP)
4.ผู้นำเข้าต้องยื่นเอกสารแสดงการปฏิบัติตามกฎดังกล่าว มิฉะนั้นอาจถูกปฏิเสธการนำเข้าหรือถูกดำเนินการทางกฎหมาย
5.อาจมีการตรวจสอบหรือประเมินสถานประกอบอาหารในประเทศผู้ส่งออก โดยความร่วมมือกับหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศผู้ส่งออก (Competent Authority) หรือดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารโดยตรง
6.กฎดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือนหลังประกาศอย่างเป็นทางการ (ยังไม่กำหนดวันบังคับใช้)
“สินค้าอาหารเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย เป็น 1 ใน 5 ตลาดส่งออกสำคัญ โดยสถิติการส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) ไทยมีการส่งออกอาหารไปยังมาเลเซีย ปริมาณ 129,000-138,000 ตันต่อปี มูลค่า 10,900-11,200 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.88-6.72% ของมูลค่าการส่งออกอาหารของไทยไปยังตลาดโลก การติดตามและเตรียมความพร้อม เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกปฏิเสธการนำเข้า และป้องกันผลกระทบต่อการส่งออกได้”นางอารดากล่าว
อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในระดับสากล รวมถึงสามารถต่อยอดสู่ตลาดส่งออกอื่น ๆ ได้ในอนาคต
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง