​ดัชนีราคาผู้ผลิต มิ.ย.68 ลด 4.0% เหตุตลาดแข่งขันสูง ความต้องการน้อย ราคาลง

img

สนค.เผยดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน มิ.ย.68 ลดลง 4.0% จากการลดลงของสินค้าทุกหมวด ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและประมง จากฐานปีก่อนสูง การแข่งขันสูง และความต้องการในตลาดโลกลดลง ผลิตภัณฑ์จากเหมือง ตามการลดลงของปิโตรเลียมและก๊าซ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการลดลงของราคาขาย คาดไตรมาส 3 ยังชะลอตัวลงอีก เหตุเจอสินค้าราคาถูกเข้ามาดัมป์ การผลิตชะลอตัว ตลาดโลกต้องการลด บาทแข็งกระทบขีดแข่งขัน และปัญหาชายแดน    

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือน มิ.ย.2568 เท่ากับ 109.1 ลดลง 4.0% มีสาเหตุสำคัญจากฐานราคาของสินค้าเกษตรในปีก่อนที่สูงจากภาวะแล้ง ต้นทุนการผลิตในภาพรวมที่ลดลงตามราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อน ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตสินค้าทุนและสินค้าสำเร็จรูป และกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
         
สำหรับรายละเอียดการลดลงของดัชนีราคาผู้ผลิต หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลง 11.4% จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า จากฐานราคาของปีก่อนที่สูง ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญยกเลิกมาตรการระงับการส่งออก อ้อย จากฐานราคาของปีก่อนที่สูง หัวมันสำปะหลังสด จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญที่ลดลง ตามความต้องการที่ลดลงในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ประกอบกับคุณภาพผลผลิตที่ลดลง ยางพารา จากการชะลอคำสั่งซื้อของตลาดปลายทางในต่างประเทศ ตามภาวะของการค้าโลกที่ไม่แน่นอน โคมีชีวิต จากความต้องการบริโภคที่ลดลง ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มลดลง และไข่ไก่ จากฐานราคาของปีก่อนที่สูง ส่วนสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย สุกรมีชีวิต จากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่สูงขึ้นจากการป้องกันโรคระบาด และกุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตลดลงจากปีก่อนตามต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่สูงขึ้น



หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง 7.5% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก สินแร่โลหะ (แร่เหล็ก ดีบุก สังกะสี) จากการชะลอตัวของอุปสงค์ และการแข่งขันในตลาดโลก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากการทำเหมือง (เกลือสมุทร) จากผลผลิตที่ออกมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาปรับลดลง

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลง 2.8% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เนื่องจากเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ สารพอลิเมอร์และสารเคมีอินทรีย์อื่น ๆ เม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น ยางสังเคราะห์ ปรับราคาตามวัตถุดิบที่ลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า แผงวงจรพิมพ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำและวงจรรวม Integrated Circuit (IC) อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และอุปกรณ์รับข้อมูล/แสดงผล ปรับตามอุปสงค์ที่ชะลอตัว และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ มันเส้น น้ำตาลทราย ข้าวสารเจ้า และข้าวนึ่ง ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า และอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เคลื่อนไหวตามอุปสงค์ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น 
         
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตไตรมาสที่ 3 ปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวไปจนถึงช่วงท้ายของไตรมาส โดยมีปัจจัยสำคัญจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเข้ามาเพิ่มขึ้น จากการระบายสินค้าอุปทานส่วนเกินของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ กดดันราคาสินค้าของผู้ผลิตในประเทศ การชะลอตัวในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกหลังจากการระงับใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ สิ้นสุดลง อุปสงค์ของตลาดปลายทางในภาพรวมที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อราคาสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดน อาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ส่วนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในทิศทางใด จึงต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง