
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยช่วง 4 เดือน ปี 68 อนุญาตคนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยรวม 363 ราย เพิ่มขึ้น 43% ทุนจดทะเบียนรวม 57,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ญี่ปุ่นนำโด่ง ทั้งจำนวนนักลงทุนและเงินทุน ตามด้วยสหรัฐฯ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ส่วนในพื้นที่ EEC ลงทุน 108 ราย เพิ่ม 40% เงินลงทุน 31,363 ล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือน ของปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.) ได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 363 ราย เพิ่มขึ้น 43% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 87 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 276 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 57,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 71 ราย คิดเป็น 20% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 17,255 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
2.สหรัฐฯ 51 ราย คิดเป็น 14% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 2,485 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจบริการ Data Center และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต
3.สิงคโปร์ 45 ราย คิดเป็น 12% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 9,126 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ตลอดจนการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปฏิบัติการของงานระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลสำหรับโครงการรถไฟฟ้า ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
4.จีน 43 ราย คิดเป็น 12% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 6,471 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone) ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
5.ฮ่องกง 40 ราย คิดเป็น 11% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 5,766 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ธุรกิจบริการ Data Center , Cloud Services และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 4 เดือนของปี 2568 มีจำนวน 108 ราย คิดเป็น 30% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 40% มูลค่าการลงทุน 31,363 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ ญี่ปุ่น 32 ราย ลงทุน 10,008 ล้านบาท จีน 25 ราย ลงทุน 3,867 ล้านบาท สิงคโปร์ 10 ราย ลงทุน 5,934 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 41 ราย ลงทุน 11,554 ล้านบาท ส่วนธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าแม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์ ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น เคมีภัณฑ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโลหะ ชิ้นส่วนเครื่องจักร ชิ้นส่วนคอมเพรสเซอร์รถยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง