​“พาณิชย์”ดึงผู้ว่าฯ ลุยตรวจสอบ 46,918 ธุรกิจเสี่ยงนอมินี ขีดเส้น 3 เดือนรู้ผล

img

คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดึงผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคณะทำงาน ลุยตรวจสอบบริษัทเสี่ยงนอมินี 46,918 รายทั่วประเทศ ขีดเส้น 3 เดือนจบ หรือต้องมีความคืบหน้า หากเป็นจังหวัดที่มีธุรกิจมาก หวังล้างบางธุรกิจนอมินีเก่า ส่วนนอมินีใหม่ ใช้กฎหมาย ป.ป.ง.จัดการ หากพบทำผิดยึดทรัพย์ 
         
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มี ร.ต.จักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินี จากการที่มีคนต่างด้าวเข้ามาถือหุ้นตั้งแต่ 0.001-49.99% ใน 6 ธุรกิจเสี่ยง จำนวน 46,918 ราย ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตรวจสอบออกมาแล้ว
         
โดยธุรกิจเสี่ยง 46,918 รายนั้น แยกเป็นธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง 11,324 ราย คิดเป็น 24.14% ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ 26,038 ราย คิดเป็น 55.49% ธุรกิจ e-commerce ขนส่งและคลังสินค้า 3,252 ราย คิดเป็น 6.93% ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต 2,570 ราย คิดเป็น 5.48% ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร (ล้ง) 1,220 ราย คิดเป็น 2.60% และธุรกิจก่อสร้างทั่วไป 2,514 ราย คิดเป็น 5.36%
         


ส่วนจังหวัดที่มีต่างชาตถือหุ้น 0.001-49.99% จำนวน 10 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี และระยอง และต่างชาติถือหุ้น 40-49.99% จำนวน 10 ลำดับแรก ได้แก่ ชลบุรี กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ สมุทรปราการ ระยอง ปทุมธานี และกระบี่
         
“ได้พูดคุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว ขอให้ตั้งคณะทำงาน มีผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดเป้าหมาย เป็นประธาน เพื่อเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่เสี่ยงเป็นนอมินี โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นไปได้ภายใน 3 เดือน ต้องทำให้เสร็จสิ้น ยกเว้นจังหวัดที่มีนิติบุคคลมาก ก็ต้องมีรายงานผลการดำเนินการ มีเป้าหมายเพื่อจัดการล้างนอมินีเก่าทั้งหมด และหลังจากนี้ จะจัดการนอมินีที่จะเกิดขึ้นใหม่ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแล ซึ่งขณะนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำลังทำงานร่วมกับ ป.ป.ง. ในการออกกฎหมายใหม่อยู่”นายนภินทรกล่าว
         
สำหรับกฎหมายที่กำลังยกร่าง เป็นกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีสาระสำคัญกำหนดเพิ่มเติมให้คนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในธุรกิจที่อยู่ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือคนต่างด้าวที่ยอมให้คนไทยกระทำการแทนดังกล่าว ตามมาตรา 36 (ความผิดฐานนอมินี) และกรณีที่คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 37 เป็นความผิดมูลฐาน ตามร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ซึ่งจะนำไปสู่การยึด อายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างด้าว ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อไม่ให้นำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ หยุดยั้งการใช้บริษัทนอมินีและคนไทยเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน สร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของระบบธุรกิจในประเทศไทย และป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการกระทำความผิด

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง