“ภูมิธรรม” มอบนโยบายกรมเจรจาฯ ลุยถก FTA เปิดทางสะดวกสินค้า บริการ ดึงลงทุน

img

“ภูมิธรรม” มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเจรจา FTA เพื่อขยายโอกาสให้สินค้า บริการ ดึงดูดการลงทุน แต่ต้องระวังประเด็นการค้าใหม่ที่มีมาตรฐานสูง และต้องดูแลกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องได้ประโยชน์และมีผลกระทบน้อยที่สุด ส่วน FTA ที่กำลังเจรจาอยู่ ต้องเร่งปิดดีล และเจรจาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะไทย-อียู ด้านไทย-เกาหลีใต้ ขอให้ลุยทันที
         
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการตรวจเยี่ยมและประชุมมอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะที่ปรึกษา คณะทำงาน และนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยเฉพาะสาขาเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ จึงได้ขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มุ่งการเจรจาเชิงรุก เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ และจัดทำแผนการเจรจา FTA ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“การเจรจา FTA มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยลดอุปสรรคและสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ ดังนั้น การเจรจาต่อรองควรคำนึงถึงความสมดุล ผลดีและผลเสีย โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกร และ SMEs ที่เป็นรากฐานของระบบเศษฐกิจ เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จาก FTA”นายภูมิธรรมกล่าว
         
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในการเจรจา FTA ยุคใหม่ โดยเฉพาะกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ขอให้ระวัง เพราะจะมีความทันสมัย มีมาตรฐานสูง และมีประเด็นใหม่ ๆ เช่น การค้าดิจิทัล สิ่งแวดล้อม แรงงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับการค้ามากขึ้น เช่น กรณีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้รับผลกระทบจากมาตรฐานที่เข้มข้นของต่างประเทศ รัฐบาลจึงต้องทบทวนพิจารณาความเหมาะสมและเร่งแก้ไขผลกระทบให้กลุ่มชาวประมง เป็นต้น และยังขอให้ติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจการค้าโลกให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย
         
นอกจากนี้ การเจรจา FTA แม้จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการของไทย แต่จะต้องดูแลกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs โดยต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และพิจารณาแนวทางเยียวยาผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้สามารถนำผลจากการเจรจาไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และควรบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและนอกกระทรวงพาณิชย์ เพื่อความเป็นเอกภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ
         


สำหรับ FTA ปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไทย-ศรีลังกา และไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) จะต้องเร่งปิดดีลการเจรจาให้ได้ตามเป้าหมาย ส่วน FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรมากกว่า 447 ล้านคน เป็นกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นนักลงทุนในระดับโลก ก็ต้องเจรจาด้วยความระมัดระวัง และยึดหลักให้เกิดประโยชน์กับไทยมากที่สุด และ FTA ที่จะเปิดเจรจาใหม่ เช่น ไทย-เกาหลีใต้ ที่อยู่ในแผนเปิดการเจรจาเพิ่มเติมในปี 2567 ถือเป็น FTA ที่จะเกิดประโยชน์กับไทย ทั้งในด้านการค้า และความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีความเข้มแข็งในการผลักดัน Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
         
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมจะเดินหน้าภารกิจในการเจรจาขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า ผ่านการจัดทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ ตามนโยบายที่ได้รับ และยังจะจัดการประชุมหารือกับประเทศคู่ค้า เพื่อสร้างพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการเจรจาในกรอบคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ตลอดจนเข้าร่วมประชุมเจรจาในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาค เช่น เอเปก และอาเซียน และระดับพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO)
         
นอกจากนี้ จะลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ผ่านการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่าย การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการจัดงานแสดงสินค้า FTA Fair รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านการค้าผ่าน FTA/RCEP Center
         
ส่วนการดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจา FTA กรมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน ได้เร่งส่งเสริมธรรมาภิบาลในองค์กร และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการต่อผู้ประกอบการและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง