“ภูมิธรรม” ควงแขน “นภินทร” ติดตามการทำงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยงานจดทะเบียนและให้บริการธุรกิจ มุ่งหน้าสู่ดิจิทัลทั้ง 100% มีแผนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ชัดเจน และมีแผนส่งเสริมธรรมาภิบาลธุรกิจ สั่งการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ ผลักดันธุรกิจสู่องค์กรสีเขียว เตรียมผู้ประกอบการรับมือความท้าทาย และปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการติดตามการทำงานที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใต้นโยบาย Quick Win หรือแผนปฏิบัติงานเร่งรัดของรัฐบาล พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า ในด้านการจดทะเบียนและให้บริการข้อมูลธุรกิจ ได้รับการรายงานว่ามีการพัฒนาบริการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบให้ครบทุกกระบวนงานเป็นดิจิทัล 100% เช่น ระบบจดทะเบียนบริษัทมหาชน หรือ e-PCL ระบบออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ระบบจดทะเบียนสมาคมการค้าและหอการค้า พัฒนาแบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนนิติบุคคล ในรูปแบบ e-Form รวมขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับกรมสรรพากร เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลในการขออนุมัติอนุญาตจากส่วนราชการ โดยปัจจุบันได้เชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว 165 หน่วยงาน และได้เร่งทำความเข้าใจกับส่วนราชการเพื่อลดภาระภาคธุรกิจ ในการขอข้อมูลนิติบุคคลและสำเนาเอกสารทางทะเบียนเพื่อไปยื่นต่อหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มบริการชุดข้อมูลสนับสนุนการพิสูจน์การยืนยันตัวตนนิติบุคคล (Digital ID) และปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค ไม่ทันสมัย และให้รองรับการพัฒนาบริการสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ด้านส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ มีเป้าหมายขยายสัดส่วน GDP ของเอสเอ็มอี จาก 34.6% ในปี 2564 เป็น 40% ในปี 2570 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ภารกิจ คือ 1.พัฒนาศักยภาพในการปรับตัวของธุรกิจ สร้างความยั่งยืน เตรียมความพร้อมสู่ต่างประเทศ ผลักดันแนวคิดการประกอบธุรกิจด้วยความยั่งยืน ส่งเสริมผู้ประกอบการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีในการลดก๊าซเรือนกระจก สอดรับแนวทางการประกอบธุรกิจประชาคมเศรษฐกิจโลก 2.สร้างภาคีความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ ขยายช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับเอสเอ็มอี เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ธุรกิจร้านอาหาร Thai SELECT และสินค้าพื้นถิ่น (OTOP Select) ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ผู้ประกอบการรายใหญ่ และแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ 3.ผลักดันให้เกิด MOU อี-คอมเมิร์ซระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย-จีน สร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงเครือข่ายเอสเอ็มอี จัดงานแสดงสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จับมือสถาบันการเงินส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และ 4.เสริมสร้างความเชื่อมั่นการใช้หลักประกันทางธุรกิจ พัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ โดยการจัดอบรม สัมมนา และหลักสูตร e-Learning ต่าง ๆ
ด้านกำกับดูแลและสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ ได้รับรายงานว่า มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนและเกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ โดยจะบูรณาการความร่วมมือสำนักงานบัญชี และสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อเพิ่มจำนวนสำนักงานบัญชีคุณภาพ จับมือหน่วยงานพันธมิตร เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมสอบสวนคดีพิเศษ เดินหน้ากำกับดูแล และตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาลการประกอบธุรกิจ และขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้มีข้อมูลทางการเงินสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ส่วนการปฏิบัติตามนโยบาย Quick Win ระยะกลางและระยะยาว ทราบว่า มีแผนกำหนดธุรกิจเอสเอ็มอีเป้าหมาย คือ เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจชุมชน ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก (โชห่วย) และธุรกิจฟู้ดทรัค โดยจะดำเนินการเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังได้ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจที่มีอยู่ในคลังข้อมูลธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยต้องมีการอัปเดตข้อมูลธุรกิจให้เป็นปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจแต่ละประเภท เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนแก่นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และขอให้ผลักดันผู้ประกอบการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวที่กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน สอดรับกระแสธุรกิจโลก โดยประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบธุรกิจ ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากสอดคล้องกับแนวโน้มการประกอบธุรกิจของนานาชาติทั้งปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ ให้ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ และสร้างความพร้อมสำหรับอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ รองรับความท้าทายทุกรูปแบบที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมเร่งขจัดอุปสรรคทางการค้าด้านต่าง ๆ ทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจ การพัฒนาระบบการให้บริการที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรมได้โดยง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยอาศัยกลไกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ
“เชื่อมั่นว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะสามารถปฏิบัติราชการได้บรรลุตามเป้าประสงค์ของรัฐบาล เพื่อให้ภาคธุรกิจเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างความมั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจ มีความเชื่อใจ เข้าใจ และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเดินหน้าพัฒนาประเทศ มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ขณะที่ทุกการปฏิบัติราชการ ภาครัฐต้องมีการกำหนดเป้าหมายและเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน เห็นผลเป็นรูปธรรม สร้างสมดุลให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อภาคธุรกิจและประชาชน สำคัญที่สุด คือ ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ผลลัพธ์จากทุกการปฏิบัติราชการต้องส่งผลดีต่อประชาชน และประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง”นายภูมิธรรมกล่าว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง