​ไทย-อียูลงนามความตกลงจัดสรรโควตาภาษีหลัง Brexit แล้ว ยันได้สิทธิ์ครบถ้วนเท่าเดิม

img

ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ลงนามความตกลงจัดสรรโควตาภาษี (TRQ) หลังจาก Brexit แล้ว ยันไทยยังคงได้สิทธิ์โควตาสินค้าเกษตร ประมง และสัตว์ปีก ครบถ้วน ไม่น้อยไปจากเดิม คาดมีผลบังคับใช้ มิ.ย.นี้  

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามความตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป (อียู) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่เป็นผลการเจรจารองรับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยฝ่ายสหภาพยุโรปมีนาย José Fernando Costa Pereira เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรโปรตุเกสประจำคณะกรรมาธิการการเมืองและความมั่นคง สำนักงานประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เป็นผู้แทน และมีนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยผลจากการลงนามความตกลงจัดสรรโควตาภาษี (TRQ) กับอียู เป็นการสรุปการแบ่งโควตาภาษีสินค้าเกษตรและประมงของไทยที่ส่งออกไปอียูและอังกฤษ โดยไทยจะได้โควตาเท่าเดิมในภาพรวม แต่ผู้ส่งออกจะต้องเช็กว่าโควตาไปอียูเป็นจำนวนเท่าไร ไปอังกฤษเป็นจำนวนเท่าไร เช่น โควตาไก่บางรายการอาจแบ่งไปให้อังกฤษมากกว่าอียู ส่วนโควตาข้าวบางรายการ อาจจะอยู่ที่อียูมากกว่าอังกฤษ เป็นต้น ส่วนอัตราภาษีจะยังเป็นอัตราเดิม ซึ่งเมื่อความตกลงมีผลใช้บังคับแล้วจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยหลายรายการที่สำคัญไปทั้งสองประเทศเป็นไปได้อย่างราบรื่น

“สินค้าในรายการที่ลงนาม ส่วนใหญ่เป็นสินค้าข้าว สัตว์ปีก และสินค้าประมง โดยไทยยังคงรักษาสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับก่อนที่จะมี Brexit ได้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณโควตาเดิมที่สหภาพยุโรปจัดสรรให้ไทยเป็นการเฉพาะ (Country Specific Quota) เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (เป็ดและไก่) และปลา ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้ปริมาณโควตานี้จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ส่วนรายการอื่นๆ จะมีที่เป็นโควตารวมให้ทุกประเทศ (global quota) ซึ่งไทยต้องไปยื่นขอโควตาแข่งกับประเทศอื่นต่อไป”นางพิมพ์ชนกกล่าว



อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจากับอียูและอังกฤษในกรอบของ WTO นั้น เป็นการเจรจาเฉพาะการแบ่งปริมาณอย่างเดียว ไม่รวมการลดภาษี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป และไทย-อังกฤษ โดยเร็วๆ ซึ่งคงจะมีการเจรจาทั้งขอเพิ่มโควตาและลดภาษีสินค้าเกษตรและประมงต่อไป เพื่อให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ให้มากที่สุด
         
ก่อนหน้านี้ ภายหลังจากการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 ส่งผลให้สหภาพยุโรปต้องแก้ไขตารางข้อผูกพันภาษีภายใต้ WTO รวมถึงตารางปริมาณโควตาของสินค้าโควตาภาษีที่ไทยได้รับจากสหภาพยุโรป 27 ประเทศ (โดยไม่รวมอังกฤษ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและประมง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจากับทั้งสองประเทศพร้อมกันมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ให้สิทธิประโยชน์โดยรวมของผู้ส่งออกไทยไม่น้อยไปกว่าที่เคยได้รับก่อนหน้าที่จะมีการถอนตัวของอังกฤษ กล่าวคือ ปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากสหภาพยุโรป 27 ประเทศ รวมกับปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากอังกฤษ จะยังคงเท่ากับปริมาณโควตาของสินค้าโควตาภาษีเดิมที่ไทยเคยได้รับจากสหภาพยุโรป 28 ประเทศ
         
โดยการเจรจาทั้งสองส่วนบรรลุความสำเร็จเมื่อเดือนก.ย.2563 และไทยกับอังกฤษได้ลงนามย่อในหนังสือแลกเปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 เพื่อให้ทันมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค.2564 อันเป็นวันที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ส่วนผลการเจรจากับสหภาพยุโรปเป็นเอกสารที่ลงนามในครั้งนี้ ซึ่งสหภาพยุโรปจะต้องไปดำเนินกระบวนการภายในก่อนที่จะมีหนังสือแจ้งไทยเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับต่อไป คาดว่าจะเป็นประมาณเดือนมิ.ย.2564
         
ในช่วงปี 2560–2563 การค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าเฉลี่ย 1,400,178 ล้านบาทต่อปี โดยไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรปเฉลี่ย 656,084 ล้านบาทต่อปี และส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเฉลี่ย 744,094 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นการส่งออกสินค้าโควตาภาษีมูลค่าเฉลี่ย 50,453 ล้านบาทต่อปี สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังสหภาพยุโรป เช่น สินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และปลาปรุงแต่ง เป็นต้น

รายละเอียดโควตา 








 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง