​ประวัติศาสตร์การค้าหน้าใหม่

img

เท่าที่จำความได้ ตั้งแต่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” เข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
         
นายจุรินทร์ ได้เป็นส่วนหนึ่งในบันทึก “ประวัติศาสตร์การค้า” มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
         
เริ่มจากครั้งแรก ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมอาเซียนในปี 2562 และสามารถผลักดันการเจรจา “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)” จนสำเร็จลุล่วงลงได้
         
ต่อมา เป็นขั้นตอนการดำเนินการภายในของแต่ละประเทศ และได้มีการลงนามในความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ถือเป็นการสร้าง “ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจ” ของโลกอีกหนึ่งครั้งสำคัญ
         
เนื่องจาก RCEP เป็น “เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก” หลังจากใช้เวลาเจรจากันมานานถึง 8 ปี
         
ถัดจากนั้น นายจุรินทร์ยังได้สร้างประวัติศาสตร์การค้าหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ที่เห็นชัด ๆ ก็คือ การผลักดันการทำความร่วมมือทางการค้า หรือที่เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “Mini FTA” กับเมืองหรือมณฑลเป้าหมาย
         
แม้ Mini FTA จะไม่ใช่ FTA เต็มรูปแบบ แต่ก็เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเชิงรุกและเชิงลึก ที่ทำได้ง่ายกว่า FTA 
         
ปัจจุบัน ลงนามกันไปแล้ว 4 ฉบับ ได้แก่ ไทย-โคฟุ ของญี่ปุ่น ไทย-ไห่หนาน ของจีน ไทย-รัฐเตลังคานา ของอินเดีย และไทย-กานซู่ ของจีน
         


กำลังจะทำกับเมือง “เซินเจิ้นและมณฑลยูนนาน” ของจีน “รัฐกรณาฏกะ รัฐมหาราษฏระ รัฐเกรละ รัฐอัสสัม และรัฐคุชราต” ของอินเดีย “เมืองปูซานและจังหวัดคยองกี” ของเกาหลีใต้
         
นี่ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์การค้าหน้าใหม่อีกหน้าหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในสมัยนายจุรินทร์
         
ล่าสุด ยิ่งต้อง “บันทึก” เอาไว้ เพราะเป็น “ครั้งแรก” ที่ไทยเปิด “การเจรจา FTA” กับ “ประเทศในยุโรป
         
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ได้ร่วมกับผู้แทนของ 4 ประเทศสมาชิก “สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA)” ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์

ประกาศ “เริ่มต้น” การเจรจา FTA “ไทย-EFTA” ที่ร้านอาหารเอ็งแลนดิงกาวิก (Englendingavík) เมืองบอร์การ์เนส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์
         
นายจุรินทร์ บอกว่า ต้องถือเป็น “วันประวัติศาสตร์ทางการค้า” ของไทย และเชื่อว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของ EFTA ทั้ง 4 ประเทศด้วย เพราะกว่าจะมีวันนี้ ต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี
         
นอกจากนี้ FTA ฉบับนี้ ยังถือเป็น “FTA ฉบับแรก” ที่ไทยทำกับประเทศในยุโรป ตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะเจรจาให้จบภายใน 2 ปี
         
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของไทยและสมาชิก EFTA ว่า “เอาจริง” ประเทศไทยจะเป็น “เจ้าภาพ” จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ครั้งแรกทันที ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28-30 มิ.ย.2565 นี้
         
เป้าหมาย ก็เพื่อผลักดันการเจรจาให้เดินไปเร็ว เพราะยิ่ง FTA สำเร็จเร็วเท่าไร ประโยชน์ทางการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นเร็วเท่านั้น
         


สำหรับ “ประโยชน์” ที่จะเกิดขึ้นจากการทำ FTA ฉบับนี้ มีข้อมูลที่เป็นผลการศึกษาของ “สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)” พบว่า ทั้งจีดีพี การส่งออก รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น
         
ที่เห็นได้ชัด ๆ เลย ก็ “สินค้าเนื้อไก่ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ” ที่จะส่งออกได้มากขึ้น จาก “ภาษี” ที่จะลดต่ำลง หรือไม่มีเลย
         
ขณะที่ “การลงทุน” ไทยจะดึงดูดนักลงทุนจาก EFTA เข้ามาไทยได้มากขึ้น

ถัดมาอีกวัน 21 มิ.ย.2565 นายจุรินทร์ ยังได้บันทึกประวัติศาสตร์การค้าอีกหน้าหนึ่ง โดยได้เข้าร่วมการประชุม “คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO)” ระดับรัฐมนตรีครั้งแรก ที่ Central Hall Westminster กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
         
การประชุมครั้งแรกนี้ ได้ตกลงร่วมกันว่า “จะขับเคลื่อนความร่วมมือ” ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเกษตร 2.ด้านดิจิทัล 3.อาหารเครื่องดื่ม 4.ด้านการลงทุน 5.ด้านการค้า และ 6.ด้านการเงิน
         
ก่อนมอบเจ้าหน้าที่อาวุโสของแต่ละประเทศ ไปหารือในรายละเอียดกันต่อ
         
นายจุรินทร์ บอกว่า ความร่วมมือในกรอบ JETCO นี้ จะพัฒนาไปเป็น “หุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น” หรือ Enhanced Trade Partnership : ETP ในอนาคต และขั้นเหนือกว่านี้ จะพัฒนาไปเป็น “FTA ไทย-สหราชอาณาจักร”  
         
เป็นเรื่องที่ต้อง “ติดตาม” ต่อไปว่า จะบันทึกประวัติศาสตร์การค้าหน้าใหม่ได้อีกหรือไม่
         
เอาไว้มีความคืบหน้า จะมาเล่าให้ฟัง
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด