​อวสานของปลอม

img

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้า และขาช้อป “ของปลอม” ต้องสะดุ้ง
         
เพราะต่อไป “การส่งออก การนำเข้า การนำผ่าน” สินค้าปลอม คงทำได้ไม่ง่ายนัก และจะกระเทือนถึง “การซื้อ การขาย” สินค้าปลอมตามไปด้วย
         
การจัดการ “สินค้าปลอม” เป็นไปตามนโยบาย “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “บังคับใช้กฎหมาย” อย่าง “จริงจัง” และ “เข้มงวด
         
หนึ่ง ไม่ต้องการให้ไทยเป็นประเทศที่ ส่งออก นำเข้า และนำผ่านสินค้าปลอม
         
สอง ไม่ต้องการให้มีการซื้อขายสินค้าปลอมในประเทศอีกต่อไป
         
สาม เพื่อประกาศต่อสายตาชาวโลก ไทยพร้อมที่จะให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุน
         
สี่ มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่จับตามอง (WL) ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ
         
หลังจากนโยบายชัดเจน กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. ... ขึ้นมา
         
ร่างประกาศฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงมาตรการห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า ห้ามนำผ่าน ให้เข้มขึ้น และให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
         
ที่สำคัญ ยังสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ 
         


เมื่อยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์เสร็จ ก็ได้เปิดรับฟัง “ความคิดเห็น” จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจนตกผลึก
         
จากนั้นได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2565 และ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบ โดยจะมี “ผลบังคับใช้” เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
         
ทั้งนี้ ภายใต้ประกาศดังกล่าว ได้กำหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นสินค้าต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักร ยกเว้นกรณีของติดตัวในปริมาณที่ไม่มากเกินสมควร โดยไม่มีลักษณะในเชิงพาณิชย์  
         
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งข้อมูลเครื่องหมายการค้าหรือลิขสิทธิ์ ต่อพนักงานศุลกากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนด เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบสินค้าที่มีเหตุสงสัยว่าจะมีการละเมิดเครื่องหมายการค้าหรือการละเมิดลิขสิทธิ์
         
ผลจากประกาศฉบับนี้ จะทำให้ “กรมศุลกากร” ยึดและอายัด “สินค้าปลอม” ที่นำเข้ามา หรือส่งออกไป และนำไปทำลาย ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น
         
ทั้งนี้ จะง่ายถึงการตรวจสอบของปลอม ที่นำผ่านจากไทยไปประเทศที่ 3 แม้สินค้าปลอมนั้น จะไม่ได้นำเข้ามาจำหน่ายในไทย แต่ถ้าเจอ ก็จะยึด และนำไปทำลายได้  
         
นั่นหมายความว่า สินค้าปลอมที่จะส่งออก นำเข้า หรือนำผ่าน จะไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ อีก  
         
เป็นการปิด “ประตู” ใส่ของปลอม  
         
แต่ถ้ายังมีของปลอมเล็ดลอดเข้ามา หรือส่งออกไป ก็ต้องไปดูว่า “เป็นหน้าที่ใคร” และ “ใครรับผิดชอบ
         
โดยจุดที่จะหลุดรอดได้ มีทั้งด่านศุลกากร ด่านชายแดน และตะเข็บชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน  
         


เพราะกระทรวงพาณิชย์ “ยื่นดาบ” ให้แล้ว จะฟันหรือไม่ฟัน ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการ
         
ส่วนหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ยังเดินหน้า “ป้องกันและปราบปราม” สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่เหมือนเดิม
         
ปีนี้ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ประกาศชัดเจน จะเดินหน้าจัดการ “สินค้าปลอม” อย่างเข้มข้นต่อไป
         
แผนการทำงาน จะร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ และภาคเอกชนเจ้าของสิทธิ์ “จัดการ” สินค้าละเมิดอย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบ “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” ที่กำลังเป็นช่องทางที่กำลังเติบโต
         
ประกาศชัด ๆ “เจอที่ไหน จับที่นั่น”  
         
ส่วน “ของกลาง” เมื่อจับกุมได้ ก็จะนำมา “ทำลาย” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนว่าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่กลับสู่ “ท้องตลาด” อีก
         
อย่างปี 2564 ที่ผ่านมา มีการทำลายของกลางที่คดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 572,076 ชิ้น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ และเครื่องสำอาง เป็นต้น
         
โดยเป็นของกลางจากการจับกุมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 56,501 ชิ้น กรมศุลกากร 435,049 ชิ้น และกรมสอบสวนคดีพิเศษ 80,526 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท
         
ส่วนใครที่พบเห็นการซื้อขาย การจำหน่ายของปลอม สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน 1368 หรือแจ้งผ่านเพจกรมทรัพย์สินทางปัญญา
         
เพื่อช่วยกัน “ขจัด” ให้ของปลอมสิ้นซากไปจากประเทศไทย
         
จากมาตรการ “ห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า ห้ามนำผ่าน” มาจนถึงความเข้มงวดและเอาจริงในการ “ป้องกันและปราบปราม” สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
         
คงได้เวลา “อวสาน” ของ “ของปลอม” 
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด