​กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำงานเข้าเป้า

img

เริ่มมีการส่ง “การบ้าน” เพื่อตอบโจทย์ “นโยบายเร่งด่วน 14 ข้อ” ที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการไว้ตั้งแต่ต้นปี
         
ล่าสุด “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ส่งรายงานตรงถึงรัฐมนตรี สรุปงานที่ได้ดำเนินการตามนโยบาย 
         
ปรากฏว่า “ทำได้สำเร็จตามนโยบายครบถ้วนแล้วทุกด้าน
         
เริ่มจากการเร่งขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” ที่วันนี้ “ในประเทศไทย มีสินค้า GI ครบถ้วนทุกจังหวัด
         
กลองเอกราช จ.อ่างทอง” เป็นตัวสุดท้าย ที่เพิ่งขึ้นทะเบียนไป
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังสามารถผลักดันส่งออกสินค้า GI จำนวน 8 รายการ ออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ได้ถึง 12 ประเทศ
         
ทำรายได้เข้าประเทศแล้วประมาณ 500 ล้านบาท 
         
โดย 8 สินค้าที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ กาแฟดอยตุง ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ผ้าไหมยกดอกลำพูน มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยช้าง มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว
         
ทั้งนี้ ยังได้จัดทำระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า “ข้อมูลสิทธิบัตร” ที่จะ “หมดอายุ” และ “ใกล้หมดอายุ
         
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากระบบนี้ ก็คือ “นักวิจัยและภาคธุรกิจ” สามารถทราบล่วงหน้าว่าสิทธิบัตรตัวไหนหมดอายุหรือใกล้หมดอายุ ทำให้นำข้อมูลสิทธิบัตรไปศึกษา “เพื่อพัฒนาการผลิต หรือวางแผนผลิตสินค้าได้ล่วงหน้า
         
ยกตัวอย่างเช่น “ยาบางชนิด” ที่มีราคาแพง และตลาดต้องการใช้มาก ถ้าสิทธิบัตรหมดอายุแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปผลิตได้ ไม่ต้องกลัวว่า จะเป็น “การละเมิดสิทธิบัตร” อีก
         
ส่วนเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการต่ออายุ “เครื่องหมายการค้า” เร่งด่วนภายใน 60 นาที จากเดิม 60 วัน
         


ได้กำหนดให้มีการพิจารณาคำขอเครื่องหมายการค้าเร่งด่วน จะทราบ “ผลการพิจารณาครั้งแรก” ได้ภายใน 6 เดือน จากเดิม 12 เดือน
         
มีการพัฒนา “ระบบการออกหนังสือสำคัญจดทะเบียนสิทธิบัตรอิเล็กทรอนิกส์” โดย “เจ้าของสิทธิบัตร” จะได้รับหนังสือสำคัญภายใน 15 วัน จากเดิม 60 วัน และ “การจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ทางอิเล็กทรอนิกส์” จะได้รับหนังสือสำคัญภายใน 3 วัน จากเดิม 30 วัน
         
นอกจากนี้ ได้เดินหน้า “คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยในต่างประเทศ” กรณีพบ “ผู้ประกอบการไทยถูกละเมิด” ได้ดำเนินการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศที่ถูกละเมิด และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เพื่อดำเนินการ “แก้ไขปัญหาในทันที

พร้อมกันนี้ ได้ลงนาม MOU กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของจีน เพื่อร่วมกันพัฒนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และ “เป็นช่องทางด่วน” ในการแก้ไขปัญหา “การละเมิดที่เกิดขึ้น” ได้อย่างทันท่วงที  

สำหรับการแก้ไขปัญหา “การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางอินเทอร์เน็ต” ได้ลงนาม MOU กับ 29 หน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต และเจ้าของสิทธิ์ในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์
         
ที่เด่นอีกงาน ได้จัดทำ “ระบบระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์” เพื่อแก้ปัญหา “ข้อพิพาท” เกี่ยวกับ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่เดิมต้องใช้เวลานาน เช่น การฟ้องร้องผ่านกระบวนการยุติธรรม การว่าจ้างตัวแทนกฎหมาย และมีค่าใช้จ่ายสูง
         
แต่ถ้าผู้ประกอบการใช้ช่องทางของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เจรจาแก้ไขปัญหาการละเมิดกับคู่กรณี จะส่งผลให้ “ลดค่าใช้จ่าย” ทั้งค่าใช้จ่ายให้ตัวแทนกฎหมาย ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ จะ “สามารถเจรจาสำเร็จได้ภายใน 2 วัน จากเดิม 45 วัน
         


เป็น 1 ใน 7 กรม ที่ทำงานสำเร็จลุล่วงตามนโยบายแล้ว แม้จะยังไม่สิ้นปี
         
ต้องยกความดีความชอบให้ “นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” และทีมงานกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ “รับลูก” และนำนโยบายลงสู่ภาคปฏิบัติได้ตามเป้า
         
จน “ออกดอก ออกผล” อย่างที่เห็น แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้งานหยุดชะงัก แต่กลับใช้โอกาส เร่งงานด้านออนไลน์ได้คืบหน้ามากขึ้น

ทราบมาว่าจากนี้ไป “จะเดินหน้าปฏิบัติงานตามนโยบายต่อ” ไม่มีหยุด

ทั้งการผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
         
การเพิ่มจำนวนรายการสินค้าที่สิทธิบัตรจะหมดอายุหรือใกล้หมดอายุ ที่นอกเหนือจากยา เช่น ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ เป็นต้น
         
การพัฒนาระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะต้อง “เร็วขึ้น” และ “สะดวกมากขึ้น” ด้วยการนำ “เทคโนโลยี” มาใช้
         
รวมไปถึงการแก้ไข “ปัญหาเร่งด่วน” หรือ “ปัญหาเฉพาะหน้า” ที่จะต้องยึดหลัก “ผลประโยชน์ของคนไทย” เป็นสำคัญ
         
อย่างที่ดำเนินการมาแล้ว เช่น การปฏิเสธการจดสิทธิบัตร “ยาฟาวิพิราเวียร์” ที่ตรวจสอบแล้ว ไม่พบ “ความใหม่” หรือ “มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
         
ทำให้ไทยสามารถผลิตยาตัวนี้ได้ ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนได้มากโข    
         
ผลงานดี จนอยากยก “นิ้วโป้ง” ให้หลาย ๆ นิ้ว
         
ส่วนกรมอื่น ๆ ที่เหลือ ไม่ใช่ว่า “ไม่มีผลงาน” ทุกกรม “มีผลงาน” จับต้องได้

เดี๋ยวนี้ “พาณิชย์” ติดเชื้อ “ทำได้ไว้ ทำได้จริง” กันหมด

แล้วใครมีผลงานอะไรบ้าง เอาไว้จะมานำเสนอต่อไป

ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด