​เตรียมพร้อมช่วยเกษตรกร

img

เดือนส.ค.2564 เป็นเดือนที่พูดได้ว่า “มีข่าวดี มีข่าวความคืบหน้า” เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือ “เกษตรกรผู้ปลูกสินค้าเกษตร” ออกมาเป็นจำนวนมาก
         
เริ่มต้นด้วย “โครงการประกันรายได้ปี 3” ที่ขณะนี้ มีความชัดเจนแล้ว “4 ชนิด” คือ “ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง
         
ที่คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ที่เป็นความรับผิดชอบของ “กระทรวงพาณิชย์” ได้เคาะเดินหน้าโครงการแล้ว
         
เหลือก็แค่ “ยางพารา” ตัวเดียว ที่ต้องรอ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ดำเนินการ
         
เรียกได้ว่า “โครงการประกันรายได้ปี 3 มาแน่นอน” เพราะจากนี้ ก็รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติการดำเนินการ
         
สำหรับสินค้า “ข้าว” คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ได้เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการไปเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับโครงการปี 2
         
จะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่ ต.ค.2564-28 ก.พ.2565 ส่วนภาคใต้เริ่มจ่ายตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.2565
         
ส่วนมาตรการคู่ขนาน มีมาตรการชะลอการขายข้าว ให้เงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท ช่วยเหลือดอกเบี้ยให้กับสหกรณ์หรือโรงสีที่เก็บสต๊อกข้าว โดยชดเชย 3% และเร่งรัดการส่งออกข้าว ช่วยดอกเบี้ย 3%  
         
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ได้มีมติให้เดินหน้าโครงการ เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับปี 2
         


ราคาเป้าหมาย 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ เริ่มจ่ายงวดแรก 20 พ.ย.2564 จ่าย 12 งวด โดยงวดสุดท้าย 20 ต.ค.2564
         
ด้านมาตรการคู่ขนาน ใครซื้อเก็บสต๊อก ได้ชดเชยดอกเบี้ย 3% มีสินเชื่อสำหรับการรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อก
         
ปาล์มน้ำมัน” คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด มีมติวันเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดราคาเป้าหมาย 4 บาทต่อกก. ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ก.ย. 2564-ก.ย.2565 จะจ่ายงวดที่ 1 วันที่ 15 ก.ย.2564
         
ด้านมาตรการคู่ขนาน จะสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ส่งออก กก.ละ 2 บาท เพื่อแก้ปัญหาสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน
         
มันสำปะหลัง” คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสําปะหลัง (นบมส.) มีมติเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2564 เดินหน้าโครงการปี 3 มีหลักเกณฑ์เหมือนเดิม ราคา 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน ระยะเวลาชดเชยส่วนต่าง 1 ธ.ค.2564–1 พ.ย.2565
         
ด้านมาตรการคู่ขนาน มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก , สินเชื่อเพื่อรวบรวม , ชดเชยดอกเบี้ยเก็บสต๊อก และเพิ่มศักยภาพแปรรูป
         
ที่สำคัญ มีข่าวดีสำหรับเกษตรกรที่ตกหล่น ที่มีวันเพาะปลูกก่อน 1 เม.ย.2563 และเก็บเกี่ยวหลัง 1 ธ.ค.2563 จำนวน 8 หมื่นกว่าราย มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการปี 2 ด้วย
         


นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2564 นายจุรินทร์ยังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

เคาะงบกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 2,500 ล้านบาท สำหรับใช้ดูแลสินค้าเกษตร 10 กลุ่ม ในปีงบประมาณ 2565  

สินค้าเกษตรทั้ง 10 กลุ่ม ได้แก่ ผลไม้ พืชหัว พืชผัก ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ ประมง กล้วยไม้

มาตรการที่จะนำมาใช้ เช่น การเร่งระบายผลผลิต , เพิ่มสภาพคล่อง ชดเชยดอกเบี้ย เพื่อให้เร่งรับซื้อหรือเก็บสต๊อก , กระตุ้นการบริโภค , ผลักดันส่งออก และส่งเสริมปัจจัยการผลิต
         
นายจุรินทร์ บอกว่า ทั้งหมดนี้ เป็นการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
         
ต้องการสร้าง “หลักประกัน” ให้กับเกษตรกร ว่า “จะได้รับการดูแล

ทั้งที่ “อยู่” ในโครงการประกันรายได้ และ “ไม่อยู่” ในโครงการประกันรายได้
         
เป็นการบริหารจัดการ โดยที่ไม่ต้องรอให้โครงการเดิมสิ้นสุด หรือจบลง
         
เพราะกระทรวงพาณิชย์ยุคนี้ เน้น “ทำได้ไว ทำได้จริง
         
ดูแล้ว ก็คง ทำได้ไว ทำได้จริง อย่างท่านว่า
         
ไม่ถึงเดือน “ปิดจ๊อบ” มีมาตรการช่วยเหลือ มีมาตรการดูแล เกือบจะครอบคลุมสินค้าเกษตรทั้งหมดในประเทศไทยแล้ว
         
แถมทำไว้ล่วงหน้าซะด้วย
         
โชคดีของ “เกษตรกร” จริง ๆ  
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด