​ประกันรายได้ปี 3 มาแน่

img

ช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้ลงพื้นที่ไป จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา
         
ได้ไปทำภารกิจหลายอย่าง ทั้งติดตาม “โครงการประกันรายได้ โครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน และโครงการจับคู่กู้เงิน เพื่อช่วยร้านอาหาร”
         
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
         
มีแต่เสียงชื่นชม “โครงการโดนใจ ถูกใจ ช่วยได้จริง
         
ทั้งโครงการประกันรายได้ ที่ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋า หากสินค้าเกษตร 5 ตัว “ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ราคาต่ำกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้
         
โครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ที่นำสินค้าจำเป็นราคาถูก มาจำหน่ายตรงถึงแหล่งชุมชน ซึ่งช่วยลดค่าครองชีพได้จริง
         
โครงการจับคู่กู้เงิน ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้จริง ๆ
         
นายจุรินทร์ บอกกับเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการ ว่า จะเดินหน้าแต่ละโครงการต่อ และจะพิจารณาเพิ่มโครงการช่วยเหลืออื่น ๆ ต่อไป
         
อย่างโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ได้เตรียมการล็อตถัดไปไว้แล้ว จะเป็นการลดราคาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ลดพร้อมกันทั้งประเทศ
         
รอบนี้ จัดหนัก จัดจริง กำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้  
         
ส่วนโครงการประกันรายได้ ได้แย้มออกมาแล้วว่า “โครงการประกันรายได้ ปีที่ 3” มาแน่
         
กำลังเตรียมการ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา
         
แต่ก่อนจะไปถึงโครงการปีที่ 3 มีการสรุปผลงานของปีที่ 2 ไว้อย่างน่าสนใจ  
         


มีเกษตรกรได้ประโยชน์ร่วมทั้งสิ้น 7.67 ล้านครัวเรือน แยกเป็น ข้าว 4.5 ล้านครัวเรือน ยางพารา 1.78 ล้านครัวเรือน มันสำปะหลัง 5.2 แสนครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน 3.7 แสนครัวเรือน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.5 แสนครัวเรือน
         
บางช่วงหลายครัวเรือนได้รับส่วนต่างที่รัฐบาลจ่ายชดเชยให้แบบ “เป็นกอบเป็นกำ
         
เช่น ข้าวหอมมะลิงวดที่ 3 เดือน พ.ย.2563 มีผู้ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 42,800 บาท มันสำปะหลัง 26,000 บาท เป็นต้น
         
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กระทรวงพาณิชย์จะปล่อยให้ราคาตกต่ำ จนรัฐบาลต้องจ่ายชดเชยไปตลอด
         
เพราะเป้าหมายของโครงการประกันรายได้ คือ ช่วยดูแลเกษตรกร ในช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้
         
อีกด้าน ก็มีการนำมาตรการต่าง ๆ ออกมาใช้ เพื่อผลักดันราคาให้สูงขึ้น
         
อย่างปาล์มน้ำมัน ที่มีมาตรการทั้งการกำกับดูแลการนำเข้า การดูแลการซื้อขาย การเร่งระบายสต๊อก การเร่งรัดส่งออก ในช่วงที่สต๊อกมีมาก ส่งผลให้ปัจจุบันราคาขยับขึ้นเกินราคาประกันรายได้

โดยการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยงวดที่ 6 ที่เดิมจะต้องจ่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ในวันที่ 15 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา “ก็ไม่ต้องจ่าย
         
เพราะราคาเฉลี่ยสูงถึงกิโลกรัมละ 5.90 บาท เกินกว่าราคาประกันรายได้ที่ 4.00 บาท
         
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็มีมาตรการดูแล ทั้งการให้สินเชื่อเก็บสต๊อก การดูแลการนำเข้า การดูแลการซื้อขาย ส่งผลให้ข้าวโพดเป็นอีก 1 ตัว ที่ไม่ต้องจ่ายส่วนต่างแล้ว

โดยการพิจารณาจ่ายชดเชยงวดที่ 8 ราคาเฉลี่ยสูงขึ้นถึง กก.ละ 8.72 บาท เกินกว่าประกันรายได้ที่ 8.50 บาทแล้ว

ยางพารา ได้ใช้มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง ให้สินเชื่อ และเร่งรัดการส่งออก ส่งผลให้ราคาปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ยางแผ่นแผ่นดิบชั้น 3 ราคา กก. ละ 60 กว่าบาท ยางก้นถ้วยราคากก.ละ 20 บาท จากเดิม 16-17 บาทต่อกก.

แต่บางช่วง ราคายังต่ำกว่าประกันรายได้ ก็ยังมีส่วนต่างที่รัฐบาลเข้าไปดูแลอยู่



ข้าว ปัจจุบัน สิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวไปแล้ว 2 ชนิด คือ “ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียว”

ส่วน “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่-ข้าวเปลือกเจ้า-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี” ยังจ่าย โดยราคาก็ขยับขึ้นลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด และตามความต้องการของตลาด

โดยในบางช่วง บางเวลา ราคาเกินกว่าที่ประกันรายได้เอาไว้ ทำให้ไม่ต้องจ่ายในบางงวด

ส่วนมันสำปะหลัง เป็นอีกตัว ที่ราคาดีขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบัน ราคาใกล้เคียงที่ประกันรายได้ที่ กก.ละ 2.50 บาท

เป็นอีก 1 ตัว ที่มีแนวโน้ม จะไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากมาตรการที่นำมาใช้ ทั้งการกำกับดูแลการนำเข้า การดูแลมาตรฐานส่งออก และการเร่งรัดผลักดันทำตลาดส่งออก
         
มีตัวเลขยืนยันชัดเจน 4 เดือนปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกได้เกือบ 4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 50%
         
นายจุรินทร์ ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์จะทำทุกวิถีทาง เพื่อผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรทุกตัว มีราคาสูงขึ้น ทั้งที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ และไม่มีโครงการประกันรายได้
         
เพราะจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
         
ที่ผ่านมา ทำสำเร็จไปหลายตัว อย่างในโครงการประกันรายได้ มีหลายตัวที่ไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง นอกโครงการประกันราย มีหลายตัวที่ราคาดี เช่น มังคุด ทุเรียน รวมถึงผลไม้ชนิดอื่น ๆ  
         
แต่เพื่อให้เกษตรกรได้ “อุ่นใจ” และ “เบาใจ” กระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการผลักดันราคาออกมาอย่างต่อเนื่องทุกพืชเกษตร
         
รวมถึง “โครงการประกันรายได้” ที่ต้องเดินหน้าต่อ       
         
เหมือนที่เคยดูแลมาแล้ว 2 ปี และกำลังจะทำต่อในปีที่ 3
         
ยังคง “ทำได้ไว ทำได้จริง” เสมอต้น เสมอปลาย
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด