​ไทยยังมีโอกาสจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

img

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 และได้ส่งผลต่อเนื่องไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ที่โดนฟาดงวง ฟาดงา ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ไม่มาก ก็น้อย
         
กระทั่งวันนี้ สงครามการค้าที่ดูเหมือนจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ สหรัฐฯ ยังหยิบโน่น หยิบนี่ มาให้เป็นปัญหาได้ตลอด
         
อย่างล่าสุด บีบให้จีนขาย Tik Tok ให้กับบริษัทของสหรัฐฯ มีไมโครซอฟต์สนใจที่จะซื้อ และยังมีทวิตเตอร์ที่มีข่าวว่าสนใจซื้อเช่นเดียวกัน และยังลามไปถึง Wechat เรื่องนี้ จะจบแบบไหน ยังไง ยังไม่รู้ เพราะมีเส้นตายที่ 45 วัน
         
แต่ทางฟากจีน แม้จะยังนิ่งอยู่ แต่เชื่อเถอะ จีนมีเอาคืนแน่
         
กลับมาที่การค้าเมืองไทยดีกว่า โดนผลพวงจากสงครามการค้ามากน้อยแค่ไหน ปรับตัวได้แล้วหรือยัง แล้วมีโอกาสจากสงครามการค้าอะไรบ้าง
         
วันนี้ “ซีเอ็นเอ” มีข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) หน่วยงานมันสมองของกระทรวงพาณิชย์ มาให้ศึกษากัน
         
สนค. เขาวิเคราะห์ไว้ว่า ทุกวันนี้ ไทยปรับตัวรับมือกับสงครามการค้าได้แล้ว แล้วยังใช้โอกาสนี้ เป็นผู้ส่งออกสินค้าทดแทนให้ทั้งสหรัฐฯ และจีน ทำให้สินค้าไทยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตลาด

ในด้านการค้า มีตัวเลขยืนยันว่า การนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีน มีสัดส่วนลดลงจาก 21.84% ในปี 2560 (ก่อนเกิดสงครามการค้า) เป็น 18.39% ในปี 2562 และการนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนลดลงจาก 8.41% ในปี 2560 เป็น 5.95% ในปี 2562
         


จากตัวเลขดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงไทยและประเทศอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจีน ทำให้ความต้องการสินค้าไทยของจีนและประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ของจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ หดตัวชัดเจน ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาตรการส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ และจีนมีผลบังคับใช้
         
แต่ในทางกลับกัน ในช่วงเกิดสงครามการค้า การส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้น 5.5% , 11.8% และ 2.5% ในปี 2561 2562 และครึ่งแรกของปี 2563 ตามลำดับ
         
และในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ไทยส่งออกไปจีนและประเทศในห่วงโซ่การผลิตจีน เช่น ฮ่องกง กลับมาขยายตัวที่ 5.8% และ 1.4% ตามลำดับ สะท้อนว่าผลของสงครามการค้าเบาบางลง ผู้ประกอบการในห่วงโซ่เริ่มปรับตัวได้มากขึ้น
         
ผลจากการที่สหรัฐฯ และจีน ต้องปรับโครงสร้างการค้า แสวงหาแหล่งนำเข้าใหม่ ทำให้ไทยส่งออกไปทดแทนได้มากขึ้น โดยครองส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ เพิ่มจาก 1.26% ในปี 2561 เป็น 1.34% ในปี 2562 และ 1.63% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งในตลาดจีนก็เพิ่มขึ้นจาก 2.13% ในปี 2561 เป็น 2.23% ในปี 2562 และ 2.42% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563
         
ทั้งนี้ สินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ข้าว หม้อแปลงไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูป

ส่วนสินค้าไทยที่เติบโตดีในจีน เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองแดง แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาหาร เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขยายตัวดี ได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการสินค้าที่ตอบโจทย์ความมั่นคงอาหารหรือพฤติกรรมการทำงานหรืออยู่ที่บ้านในช่วงโควิด-19



ไม่เพียงแค่นั้น ผลพวงจากสงครามการค้า ยังทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุน โดยทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็มีการย้ายฐานการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในปี 2561 หรือ 57% ของเงินลงทุนต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ส่วนจีนเป็นผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในปี 2562 หรือ 52% ของเงินลงทุนต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด

ผลของการย้ายฐานการลงทุน ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกของไทย เช่น บริษัทจีนในไทย สามารถส่งออกสินค้ากลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกและผลิตภัณฑ์ไม้ได้เพิ่มขึ้น บริษัทสหรัฐฯ ส่งออกยานพาหนะและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน ออฟฟิศและอุปกรณ์อื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น
         
สิ่งที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า สงครามการค้าแม้จะกระทบไทยในระยะแรก แต่ต่อมากลับก่อให้เกิดประโยชน์กับไทย และจากนี้ไป ไทยยังมีโอกาสในการขยายการค้า และดึงดูดการลงทุน ทั้งจากสหรัฐฯ และจีนเข้ามาไทย
         
แต่มีประเด็นต้องติดตาม คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การบังคับใช้ข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรก เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยี ที่จีนต้องปฏิบัติตามนอกเหนือจากการซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

ตลอดจนประเด็นที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้ง เช่น สิทธิมนุษยชน และการปกครองฮ่องกง รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ ที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และนโยบายการต่างประเทศในภาพรวมของสหรัฐฯ รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจการค้าและนโยบายในหลายประเทศ และอาจถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นเหตุผลเพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ กับจีนในอนาคต
         
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องจับตา และละสายตาเลยไม่ได้ แม้ในภาพรวม ไทยจะสามารถปรับตัวจากสงครามการค้าได้แล้ว แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า ตราบใดที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด