​“กีรติ รัชโน” ปลัดพาณิชย์ เร่งขับเคลื่อนโครงการ Local+ ภารกิจใหม่เพิ่มเงินในกระเป๋าฐานราก

img

ปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าที่ผลิตจากชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ และที่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยรู้จัก ประสบพบเจอ และเคยผ่านหู ผ่านตามาบ้าง ก็อย่างสินค้าโอทอป สินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs และสินค้าที่เป็นของดี เด่น ดัง ของจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ที่ผ่านมา มีช่องทางในการทำตลาด จากการที่หน่วยงานภาครัฐได้เข้าไปช่วยเหลือ จนหลาย ๆ สินค้า มีโอกาสในการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่กระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นว่า ยังมีสินค้าอีกหลาย ๆ กลุ่ม ที่สามารถเข้าไปสนับสนุน และเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้มากขึ้นไปอีก เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่ตอบสนองเทรนด์ความต้องการของตลาดโลก ส่วนโครงการที่ว่า คือ อะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร “นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” จะมาให้คำตอบในเรื่องนี้
         
นายกีรติ เล่าว่า เดิมทีนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายโลคัล อีโคโนมี ที่เน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับฐานรากอยู่แล้ว และเป็นนโยบายที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญ เพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงมาคิดกันว่า จะมีโครงการใหม่ ๆ อะไร ที่สามารถตอบโจทย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้ เลยมาจบที่โครงการโลคัล พลัส (Local+) ซึ่งชื่อไทย คือ สินค้าชุมชนเพิ่มรักษ์ ฟังแล้วมันเข้าใจยาก ขอเรียกง่าย ๆ ว่า โครงการโลคัล พลัส ก็แล้วกัน เพราะจำง่าย เข้าใจง่าย ว่า เป็นสินค้าที่อยู่ในท้องถิ่น แล้วบวก โดยบวกในที่นี้ คือ สินค้าในกลุ่ม BCG สินค้าอัตลักษณ์ และสินค้านวัตกรรม
         
“ที่เราทำโครงการนี้ขึ้นมา เพราะมองหลักตลาดนำการผลิต ปัจจุบันมีดีมานด์อะไร สินค้าที่จะเอาไปขาย มีเทรนด์อะไร เทรนด์ตอนนี้ รักสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม เน้นสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ มีนวัตกรรม ก็ต้องรู้ก่อนลูกค้าอยากได้อะไร ผลิตสินค้าต้องตอบโจทย์ ซึ่งตรงนี้ กระทรวงพาณิชย์ทำ กระทรวงพาณิชย์ไปรวบรวม แล้วมาบอกผู้ผลิต แล้วกลับมาดูซัปพลาย มีอะไรบ้าง ผลิตได้ตรงตามที่ตลาดต้องการมั้ย เพราะที่ผ่านมา เราจะผลิตตามความถนัด ผลิตสินค้าเกษตร ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป หัตถกรรม ต่อไปทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าบอกให้หยุดทำ หยุดผลิต แต่อยากให้เอาข้อมูลดีมานด์ไปใส่ เพื่อทำสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า”
         


เมื่อโครงการชัดแล้ว ก็แบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่มที่เราจะไปตามคัดเลือก กลุ่มแรก คือ กลุ่ม BCG เป็นกลุ่มสินค้าที่เน้นการผลิตโดยมุ่งรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องสิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพ สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าออร์แกนิก อยู่ในกลุ่มนี้หมด กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มอัตลักษณ์ เป็นกลุ่มสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความเป็นอัตลักษณ์ ที่ต้องการจะให้คงอยู่และรักษาไว้ และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มนวัตกรรม เป็นกลุ่มที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปผลิตสินค้า ทำให้สินค้ามีความแตกต่าง
         
นายกีรติกล่าวว่า เมื่อแบ่งกลุ่มสินค้าได้แล้ว ก็เป็นขั้นตอนของการคัดเลือก ตรงนี้เรามีผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ที่ทำหน้าที่ดูแลแต่ละภูมิภาค ดูแลแต่ละจังหวัด ไปทำงานร่วมกับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทำการคัดเลือกสินค้าให้เข้ามาอยู่ในโครงการโลคัล พลัส โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่แต่งตัวเสร็จแล้ว พร้อมแล้ว และกลุ่มที่ยังไม่เสร็จ ต้องแต่งหน้า ทาปากเพิ่ม แล้วตอนคัดเลือก ก็ไม่ได้เจาะจงว่าสินค้านี้เป็นสินค้าโอทอป เป็นสินค้า SMEs เป็นสินค้าชุมชน หรือเป็นสินค้าที่ใครส่งเสริมหรือสนับสนุน แต่เรามองว่า ถ้าเข้าคอนเซ็ปต์ 3 กลุ่มที่เราตั้งไว้ ก็เป็นสินค้าโลคัล พลัสได้ ตอนนี้ เลือกมาได้แล้วประมาณ 500 กว่ารายการ ก็ต้องทำการคัดเลือกต่อไป ใครอยู่กลุ่มที่แต่งตัวแล้ว และใครอยู่ในกลุ่มที่ยังไม่แต่งตัว
         
โดยกลุ่มแรก เมื่อคัดเลือกมาแล้ว ก็จะเข้าไปช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปีนี้กระทรวงพาณิชย์กำหนดจัดงานแสดงสินค้าโลคัล พลัส ในส่วนภูมิภาค 4 ครั้ง จะเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.2566 กำหนดไว้ครั้งละประมาณ 50 สินค้า ซึ่งสินค้าที่จะมาอยู่ในงานนี้ ก็ต้องคัดเลือก มีทีม มีกรรมการคัดเลือก และต้องเป็นสินค้าเด็ดจริง ๆ เข้าตามคอนเซ็ปต์ เป็นสินค้า BCG อัตลักษณ์ และนวัตกรรม แต่ละภาค ก็จะมีสินค้าเด่น ๆ ในแต่ละภาคมาจัดแสดง และชวนเชิญให้คนเข้าไปเลือกชม เลือกซื้อ อยากให้เวลาเข้าไปดูแล้ว ว้าว สินค้ามีสตอรี่ มีเรื่องราว ไม่ใช่เหมือนไปเดินงานขายของทั่วไป เราจะทำให้แตกต่าง
         


พอจัดในระดับภูมิภาคเสร็จ ก็จะเป็นงานใหญ่ที่ส่วนกลาง ที่กรุงเทพฯ เป็นงานใหญ่ชื่อ Thailand International Local Plus Expo 2023 หรืองาน TILP Expo 2023 รอบนี้จะคัดสินค้าจากแต่ละภูมิภาคมาจัดแสดง ตั้งเป้าไว้ประมาณ 200 สินค้า ซึ่งงานนี้ นอกจากเปิดตัวสินค้าโลคัล พลัส ออกสู่ตลาดในประเทศ ยังจะเพิ่มโอกาสในการเปิดตัวจำหน่ายออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วย จะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เป็นต้น หรือทำฐานข้อมูลสินค้าโลคัล พลัส ทั้งไทยและอังกฤษ ในแต่ละจังหวัดมีอะไรบ้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้เข้าไปดู เข้าไปซื้อสินค้า โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปีนี้ทั้งปีน่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าโลคัล พลัสทั้งหมดได้ไม่ต่ำกว่า 650-700 ล้านบาท
         
สำหรับกลุ่มที่ยังแต่งตัวไม่เสร็จ กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วย ไปให้ข้อมูลการผลิต การพัฒนา การปรับดีไซน์สินค้า เพื่อให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ เมื่อมีขีดความสามารถ หรือพัฒนาสินค้าได้ดีขึ้นแล้ว ก็จะดันเข้าสู่กลุ่มแต่งตัวเสร็จ และช่วยหาช่องทางการตลาดให้ต่อไป
         
“โครงการนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้คนรับรู้ว่าประเทศไทยมีสินค้าอะไร ที่เป็นสินค้าที่ผลิตแล้วตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก ตอบโจทย์เทรนด์โลกในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการสินค้ารักสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม สินค้าที่มีอัตลักษณ์ มีนวัตกรรม เพราะการซื้อสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้ขายแค่ตัวสินค้า แต่ยังขายสตอรี่ ขายเรื่องเล่า ที่มาที่ไป ภูมิใจทั้งคนซื้อ ดีต่อใจสำหรับคนรับ และยังช่วยให้สินค้าที่ผลิตในชุมชน มีช่องทางในการทำตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ดียิ่งขึ้น”นายกีรติกล่าวสรุป

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง