​กรมพัฒน์ฯ แนะวิธีตรวจสอบผู้ค้าออนไลน์ ดูยังไงว่าเป็นร้านที่เชื่อถือได้ ซื้อแล้วจะไม่ให้ถูกโกง

img


ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า มีผู้ค้าออนไลน์ในประเทศไทย ณ ปี 2559 รวมทั้งสิ้น 527,324 ราย และมีมูลค่ารวมกว่า 2.52 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA
         
คำถามที่เกิดขึ้น เมื่อมีจำนวนผู้ค้าขายผ่านออนไลน์มากถึงขนาดนี้ จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ผู้ขายเชื่อถือได้ ซื้อสินค้าและบริการไปแล้ว จะได้รับสินค้าและบริการจริง ไม่มีปัญหาหลอกลวง และจะไม่ถูกโกง
         
ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ของไทย โดยได้เชิญชวนให้ผู้ค้าออนไลน์เข้ามาจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง และขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียน  DBD Registered เพื่อยืนยันตัวตนติดบนหน้าเว็บไซต์ เพราะการจดทะเบียนพาณิชย์และการได้รับเครื่องหมาย DBD Registered  จะเป็นการรับประกันว่า ผู้ค้ารายนี้มีตัวตนจริง น่าเชื่อถือ สามารถทำการซื้อขายได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่อง “หลอกลวง เรื่องโกง” เพราะแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต ก็สามารถที่จะติดตามตัวได้ และติดตามเรียกร้องค่าเสียหายได้
         


นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ ได้ดำเนินการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง และทำหน้าที่ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีผู้ขึ้นทะเบียนร้านออนไลน์กับกรมฯ แล้ว จำนวน 21,167 ราย 23,376 ร้านค้า คิดเป็นร้อยละ 4 ของร้านค้าออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ค้าออนไลน์ที่มีอยู่ 5 แสนกว่าราย
         
นอกจากนี้ กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ โดยกำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและระบบการจดทะเบียนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เช่น ปรับปรุงแก้ไขแบบฟอร์มการจดทะเบียนนิติบุคคลให้สามารถรองรับการจดแจ้งข้อมูลอี-คอมเมิร์ซ พัฒนาระบบการจดทะเบียนให้มีการบันทึกข้อมูลอี-คอมเมิร์ซ เพื่อจัดเก็บข้อมูลร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมกับการเปิดให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ประมาณกลางปี 2560

“เพื่อให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นช่องทางการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับอย่างสมบูรณ์ กรมฯ ขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง และขอเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียน DBD Registered เพื่อยืนยันตัวตน โดยนำเครื่องหมายดังกล่าวติดไว้บนหน้าเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคเห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าและบริการจากเว็บไซต์นั้นๆ รวมทั้งขอความร่วมมือจากสมาคมการค้าต่างๆ เชิญชวนสมาชิกที่ประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ และขอเครื่องหมาย DBD Registered ติดบนหน้าเว็บไซต์ด้วย เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย”นางสาวบรรจงจิตต์กล่าว

จากแนวทางที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำลังดำเนินการอยู่ ทำให้ทราบแนวทางการตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ ก็คือ ร้านค้าที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์ถูกต้อง ก็มั่นใจได้ว่า “เป็นร้านที่มีตัวตน มีการทำธุรกิจจริง สามารถซื้อขายได้โดยไม่ต้องกังวล” และถ้าให้มั่นใจไปมากกว่านี้ “หากร้านค้านั้น มีเครื่องหมาย DBD Registered ติดอยู่ที่เว็บไซต์ด้วย ก็ยิ่งมั่นใจได้คูณสอง เพราะเป็นร้านค้าที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติในด้านต่างๆ มาแล้ว

สำหรับเครื่องหมาย DBD Registered ร้านค้าออนไลน์ที่จะได้รับ ต้องผ่านการพิจารณาดังต่อไปนี้ เช่น เป็นร้านค้า เป็นเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจถูกต้อง ทำตามกฎ กติกา และทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะหากไม่ผ่านมาตรฐานเหล่านี้ ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับเครื่องหมาย แต่ถ้าต่อไปภายหน้า แม้จะได้รับเครื่องหมายไปแล้ว หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะดำเนินการเพิกถอนเครื่องหมายได้
      

   
ส่วนการดูแลผู้บริโภคในด้านอื่นๆ นางสาวบรรจงจิตต์กล่าวว่า กรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมสรรพากร กรมศุลกากร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ จัดประชุมหารือถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และวิธีการป้องกันมิจฉาชีพที่อาศัยช่องทางอี-คอมเมิร์ซหลอกลวงผู้บริโภค โดยเห็นพ้องในเบื้องต้นว่า ผู้ประกอบธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ควรได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้มีมาตรฐานความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ โดยมีการกำกับดูแลกันเอง (self-regulate) ภายในระบบตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส)
         
ขณะเดียวกัน กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ด้วยกัน ทำการติดตามพฤติกรรมการค้าของผู้ประกอบธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง กรณีที่มีการร้องเรียนพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมในการจำหน่ายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในมีมาตรการในการกำกับดูแลอยู่แล้ว ภายใต้พ.ร.บ.การแข่งขันทางค้า พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจกระทำพฤติกรรม ดังนี้ 1.การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 25 ตัวอย่างเช่น การใช้อำนาจเหนือตลาดในการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการบังคับคู่ค้าโดยทางตรง หรือทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม 2.การตกลงร่วมกัน ตามมาตรา 27 ตัวอย่างเช่น การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในการจำหน่ายสินค้าเป็นราคาเดียวกัน 3.การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 29 ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตกำหนดไม่ให้ผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาที่กำหนด แต่การพิจารณาพฤติกรรมการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจยังต้องคำนึงถึงการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 นี้ กฎหมายราคาสินค้าและบริการได้กำหนดมาตรการให้การขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ต้องแสดงราคาขายพร้อมทั้งชนิด ประเภท ขนาด อื่นๆ รวมทั้ง ค่าบริการขนส่งสินค้าให้ชัดเจน และห้ามขายเกินราคาที่แสดงไว้ด้วยแล้ว

ขณะที่การดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการจัดระเบียบร้านค้าออนไลน์ ล่าสุดในเรื่องของมาตรการภาษี กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ ส่วนเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อผู้ขายออนไลน์ สถาบันอนุญาโตตุลาการ หรือ THAC ระบุว่า ได้ให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางออนไลน์ (Online Dispute Resolution : ORD) โดยจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการให้บริการเจรจาไกล่เกลี่ยและทำการประนอมข้อพิพาทให้กับผู้ซื้อและผู้ขายอย่างครบวงจรและรวดเร็ว ผ่านทาง www.talkdd.com โทร 0 2018 1615

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันยังมีผู้ค้าขายออนไลน์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องอีกเป็นจำนวนมาก แต่เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับผลกระทบ แนวทางป้องกัน ก็คือ การตรวจสอบความถูกต้องของร้านค้าว่ามีการจดทะเบียนพาณิชย์แล้วหรือไม่ ถ้าให้ดีขึ้นไปอีก ให้ตรวจดูว่า ได้รับเครื่องหมายรับรอง DBD Registered แล้วหรือยัง ถ้ามีทั้ง 2 อย่างก็ยิ่งมั่นใจได้

ส่วนร้านค้า ผู้ค้า ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ ผู้ขายบุคคลธรรมดา หากอยากสร้างความเชื่อมั่นให้กับร้านค้า เว็บไซต์ ของตัวเอง การจดทะเบียนพาณิชย์ และการขอเครื่องหมายรับรอง DBD Registered คือ คำตอบสุดท้าย เพราะอยากให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง ต้องทำ!!!  

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด