“พาณิชย์”เปิดแผนหนุนรัฐบาล ตรึงสินค้า-ลดต้นทุน-เพิ่มโอกาสค้าขาย บรรเทาผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ

img

เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2565 โดยคณะกรรมการ ที่มีทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และแผนบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
         
โดยรัฐบาลได้ทำแผนรองรับ 4 ด้าน คือ 1.ด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.ด้านการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร 3.ด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี 4.ด้านเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยทั้ง 4 ด้าน มีมาตรการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือ Current policy มาตรการระยะเร่งด่วนหรือ Quick win และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่องหรือ Follow-up Urgent policy
         
ในที่ประชุม ได้รับทราบรายงานสถานการณ์โลก โดยมีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งเรื่องไต้หวัน และการประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและกรณีที่ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งรีบ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) รวมถึงองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ต่างก็ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 อย่างต่อเนื่อง และในทางกลับกัน ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อขึ้นตามลำดับ รวมทั้งยังได้ตรวจสอบเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอย่างละเอียด
         
จากนั้นที่ประชุมได้สรุปแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีการรายงานเครื่องบ่งชี้วิกฤติเศรษฐกิจล่าสุด แยกเป็น 4 ส่วน คือ วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร วิกฤติด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และวิกฤติโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน
         


โดยมาตรการปัจจุบันในด้านวิกฤตพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และวิกฤตการขาดแคลนวัตถุดิบ กระทรวงพลังงานได้ดูแลราคาน้ำมันดีเซล ดูแลค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ก๊าซหุงต้ม ให้กับผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์ได้ตรึงราคาสินค้า 18 หมวดสำคัญ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสด อาหารกระป๋อง และดูแลเรื่องปริมาณปุ๋ยและราคาปุ๋ยในประเทศ โดยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเจรจาซื้อขายปุ๋ยจากซาอุดิอาระเบียแล้ว 3.23 แสนตัน ส่วนวัตถุดิบอาหาร ได้ผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน เปิดตลาดนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือและกากถั่วเหลือง
         
ด้านวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ดำเนินโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มาตรการเสริมสภาพคล่องด้วยการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต ขยายเพดานวงเงินบัตรเครดิต คลินิกแก้หนี้ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป็นต้น กระทรวงแรงงาน ออกมาตรการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคมและผู้ประกันตน กระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการ “คนละครึ่ง” มาตรการภาษีสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

ด้านวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเจรจา FTA กับคู่ค้าศักยภาพ และเจรจาเพื่อลดอุปสรรคการค้า รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ 14 ฉบับ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง ออกมาตรการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง โครงข่ายถนน ระบบขนส่งทางอากาศและทางน้ำ

สำหรับมาตรการเร่งด่วน ที่จะดำเนินการในระยะต่อไป จะเร่งลดภาระค่าเดินทางของประชาชน ทั้ง ขสมก. รฟท. และ รฟม. ลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องปุ๋ย การแก้วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี ด้วยการดำเนินโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ต่อเนื่อง สนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู สนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลงทุนนวัตกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร เป็นต้น



ส่วนมาตรการที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง จะส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม พัฒนาทักษะทางการเงินทุกช่วงวัย ส่งเสริมการค้าออนไลน์ สร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการเอสเอมอีในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพิ่มสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และการดูแลหนี้สินของประชาชนรายย่อย มีมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ พัฒนาทักษะแรงงาน เจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน BCG เร่งเจรจา FTA ที่มีอยู่และเปิดเสรี FTA ใหม่ และช่วยเหลือภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดให้ปรับตัว

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นี้ มีมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบอยู่เป็นจำนวนมาก และได้ถูกนำไปบรรจุไว้ในข้อเสนอและแผนขับเคลื่อน จำนวน 6 แผนงาน คือ 1.การควบคุมราคาสินค้า 18 หมวดสำคัญเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน 2.การเร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ 3.การเร่งรัดเจรจา FTA กับคู่ค้าที่มีศักยภาพ เพื่อเปิดตลาดและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า 4.การยกระดับการเจรจา FTA ที่มีอยู่ 5.การเปิดเจรจา FTA ใหม่ และการทำข้อตกลงเจาะตลาดเมืองรองด้วย Mini FTA 6.การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) และในการประชุมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ขอเพิ่มมาตรการทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์หรือทางปศุสัตว์เข้าไปด้วย

“นายจุรินทร์ย้ำว่ากระทรวงพาณิชย์พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะใช้ทุกองคาพยพในการดูแลประชาชน ทั้งการดูแลค่าครองชีพ การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้ในกระเป๋า ทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร สินค้าชุมชน และผู้ประกอบการ ไปจนถึงการผลักดันการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ การลดต้นทุนทั้งในเรื่องปุ๋ยเคมี วัตถุดิบอาหารสัตว์ และการเดินหน้าเจรจา FTA และใช้ Mini FTA ในการเปิดตลาด และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น”นางมัลลิกากล่าว




 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง