มาม่าขอขึ้นราคา 6 เป็น 8 บาท จับตา“วิน-วิน โมเดล”ทำงาน ผู้ผลิต-ผู้บริโภคร่วมแบ่งเบาภาระ

img

สถานการณ์ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ดูไม่ค่อยจะสู้ดีนัก หลังจากที่ผู้ประกอบการในตลาด ไม่ว่าจะเป็น “มาม่า-ไวไว-ยำยำ” ต่างแบกรับภาระต้นทุนกันต่อไปไม่ไหว และได้ทำเรื่องขอปรับขึ้นราคากับกระทรวงพาณิชย์เข้ามาแล้ว บางรายขอมาเป็นปี แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ปรับราคา และล่าสุดมาม่าได้ทำเรื่องขอปรับราคาเข้าไปยังกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง และครั้งนี้ ขอขยับราคาขึ้นจากซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท หรือขอปรับเพิ่มราคาขึ้น 2 บาท ขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นอย่างไวไว และยำยำ ต่างก็เห็นด้วยกับการขอขยับราคาขึ้นดังกล่าว
         
สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ต้องขอขยับราคาขึ้น มาจากต้นทุนวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม และบรรจุภัณฑ์ โดยแป้งสาลีเพิ่มขึ้นกว่า 100% น้ำมันปาล์มก็เพิ่มขึ้น โดยเคยไปสูงสุดกิโลกรัม (กก.) ละเกือบ 70 บาท แม้ตอนนี้ลงมาเหลือ 50 บาทกว่า ๆ ก็ยังถึงว่าสูง วัตถุดิบอื่น ๆ ที่นำมาทำเครื่องปรุงรส ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนแพกเกจจิ้งที่สูงขึ้น 20-30% จากการปรับขึ้นภาษีเอดีสินค้าฟิล์มบีโอพีพีที่ใช้เป็นวัตถุดิบ
         
นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นตามไปด้วย และยังมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับต้นทุนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่ไม่แน่ว่า อาจจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ด้วย
         


เรื่องนี้ ได้รับการยืนยันจากบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า ว่า ได้ยื่นเรื่องขอปรับราคากับกระทรวงพาณิชย์จริง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ปรับราคา พร้อมย้ำว่า ราคาที่ขอปรับไป สอดคล้องกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แม้จะพยายามบริหารจัดการภายใน เพื่อคุมต้นทุนแล้ว ก็ยังไม่ไหว จึงต้องขอปรับราคา
         
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ปรับราคา แต่ได้พยายามไม่ปล่อยให้สินค้าขาดตลาด แม้ว่าการผลิตจะต้องประสบกับภาวะการขาดทุนก็ตาม เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือเอาไว้ ซึ่งทุกวันนี้ ก็ได้ร่วมมืออย่างเต็มที่ และหวังว่า ในที่สุดกระทรวงพาณิชย์จะเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
         
สำหรับความเคลื่อนไหวของกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มีการยื่นขอปรับราคาเข้ามาจริง บางรายยื่นมาปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่ได้อนุมัติให้ขึ้น และล่าสุดขอขึ้นซองละ 2 บาท จาก 6 บาท เป็น 8 บาท แต่ได้พยายามขอให้ตรึงราคา และดูว่าต้นทุนปรับสูงขึ้นเท่าไร โดยได้มอบให้กรมการค้าภายในช่วยดูแลลึกในรายละเอียดแล้ว ซึ่งเห็นใจทั้งผู้ผลิตที่ต้นทุนตึงมากและสูงขึ้นจริง และเห็นใจผู้บริโภคหากมีการปรับขึ้นราคา



“ได้ขอให้ไปดูว่าขอปรับขึ้นซองละ 2 บาท มากเกินไปไหม จะเป็นภาระกับผู้บริโภคจนเกินสมควรไหม คือ สิ่งที่กรมการค้าภายในต้องใช้ดุลยพินิจให้ชัดเจนตามหลักวิชาการ ให้ปรับจากต้นทุนที่เป็นจริง ลงลึกในการวิเคราะห์รายละเอียด ไม่ใช่เหมารวม แล้วเจรจาเหมือนซื้อขายทั่วไป เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคจำนวนมาก ต้องไปดูว่า 2 บาทที่ขึ้นไปเกินสมควรหรือเปล่า หรือถ้าจำเป็นต้องปรับ เพราะต้นทุนสูงขึ้นจริง พิสูจน์แล้ว ดูตัวเลขแล้ว ควรจะแค่ไหน เพื่อให้ผู้บริโภครับภาระน้อยที่สุด และผู้ประกอบการยังอยู่ได้ไม่ขาดทุนจนเลิกผลิต ตามนโยบายวิน-วิน โมเดล เพราะถ้าเลิกผลิต จะกระทบผู้บริโภค ก็จะมีปัญหานอกจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพง ก็เป็นไม่มีของบริโภค เป็นปัญหาของขาดตลาด จึงต้องให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค”นายจุรินทร์กล่าว

ทางด้าน ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างละเอียด ทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม บรรจุภัณฑ์ และต้นทุนการขนส่งจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น แต่จะให้ปรับขึ้นราคาขายตามที่ภาคเอกชนเสนอมาซองละ 2 บาทหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน เพราะในการปรับขึ้นราคา จะต้องยึดนโยบายวิน-วิน โมเดล ที่นายจุรินทร์กำหนดไว้ ที่ทุกฝ่าย จะต้องร่วมรับภาระร่วมกัน ไม่ใช่โยนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
         
หากประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ต้นทุนฝั่งผู้ผลิต ปรับเพิ่มขึ้นจริง ขณะที่ภาครัฐ ก็รับรู้ว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง และกำลังหาทางออกให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยยึดนโยบายวิน-วิน โมเดล ที่ทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันได้ และถ้าเป็นไปตามนี้ เห็นแววว่า ทุกฝ่ายอาจจะต้องพบกันครึ่งทาง ผู้ผลิตอาจจะไม่ได้รับการอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาเต็มตามที่ขอ ส่วนผู้บริโภค ก็ไม่กระทบเต็มตามที่ผู้ผลิตจะปรับขึ้นราคา แต่ราคาสุดท้าย จะปรับขึ้นแค่ไหน เท่าใด ยังต้องรอกรมการค้าภายในเคาะอีกครั้ง และเรากำลังจะได้เห็นกันว่า “วิน-วิน โมเดล” ทำงานยังไง
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง