​ที่สุด “พาณิชย์”รอบปี 2563

img

กลับมาพบกันอีกครั้งสำหรับที่สุด “พาณิชย์” ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา โดยตลอดทั้งปีมีเหตุการณ์ มีข่าวสารเกิดขึ้นมากมายในกระทรวงพาณิชย์ มีทั้งข่าวดี ข้าวร้าย ข่าวเด่น ข่าวดัง ข่าวสีสัน สนุก ตื่นเต้น เรียกว่ามีครบทุกรส แต่มีข่าวสารที่สำนักข่าว “CNA Online” เห็นว่า “เป็นที่สุดแห่งปี” และขอนำมาสรุปไว้ในที่นี้ ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลย  
 
“ประกันรายได้ปี 2” เกษตรกรชอบมากที่สุด

         

รัฐบาลได้ขับเคลื่อน “โครงการประกันรายได้” สินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ปี 2562 และได้ดำเนินการต่อเนื่องจนวันนี้ 
         
ปัจจุบัน โครงการประกันรายได้ปีที่ 2 ได้ผ่านการอนุมัติการดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยมันสำปะหลังเป็นตัวแรก ตามมาด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และยางพารา ส่วนปาล์มน้ำมัน ได้ต่ออายุโครงการเดิม และขณะนี้สิ้นสุดโครงการแล้ว รอที่จะเสนอเข้า ครม. สำหรับโครงการปีที่ 2
         
ขณะนี้ ได้มีการคิกออฟจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรไปแล้ว โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ่ายส่วนต่างงวดแรก วันที่ 20 พ.ย.2563 ข้าว วันที่ 16 พ.ย.2563 มันสำปะหลัง วันที่ 1 ธ.ค.2563 และยางพารา วันที่ 11 ธ.ค.2563 และยังมีการจ่ายต่อเนื่อง 
         
เรียกได้ว่า เกษตรกรต่างดีใจกันถ้วนหน้า เพราะไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำ เนื่องด้วยมีเงินจากโครงการประกันรายได้เข้ามาช่วย 
         
ล่าสุด มีผลสำรวจผลงานรัฐบาลที่ทำการสำรวจว่าประชาชนชอบโครงการไหนมากที่สุด ปรากฏว่า “โครงการประกันรายได้” มาเป็นอันดับ 2 รองจากโครงการ “คนละครึ่ง” ที่คว้าอันดับ 1 แต่คะแนนห่างกันนิดเดียว เป็นการการันตีโครงการเขาดีจริง
         
แต่ถ้าไปถามเกษตรกร ไม่ต้องเดาคำตอบ ทุกคนน่าจะพูดเป็นเสียงเดียวกัน “ชอบ” โครงการประกันรายได้มากที่สุดแน่นอน
 
ลดราคาสินค้ามากครั้งที่สุด


       
ปี 2563 เป็นปีที่เรียกได้ว่า ไม่มีปัญหาสินค้าแพงให้ต้องหนักใจ เพราะด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่มี การจะปรับขึ้นราคาสินค้า จึงทำได้ยาก ผลประโยชน์ก็เลยตกอยู่กับผู้บริโภค

แม้ว่า สินค้าจะไม่ปรับขึ้นราคา แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งเฉย กลับเดินหน้าช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ห้าง ร้าน ปรับลดราคาสินค้าลงมาอีก ชนิดที่เรียกว่าลดกันเดือนชนเดือน
         
ประเดิมด้วยการจัดทำโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” ครั้งแรก จัดขึ้นในเดือนเม.ย.2563 เริ่มต้นด้วยการปรับลดราคาสินค้า 6 หมวดที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ซอสปรุงรส ของใช้ในชีวิตประจำวัน ของใช้ชำระร่างกาย และผลิตภัณฑ์ซักล้าง รวม 72 รายการ ลดราคาตั้งแต่ 5-58% เริ่ม 6 เม.ย.-30 มิ.ย.2563
         
แต่โครงการล็อตแรก ยังไม่ทันจบ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดตัวโครงการล็อต 2 ทันที ลดราคาสินค้า 6 กลุ่มเหมือนเดิม แต่มีสินค้าเข้าร่วมลดราคา 3,025 รายการ ลดสูงสุด 68% 
         
จากนั้นทยอยเปิดตัวโครงการต่อเนื่อง ล็อต 3-7 โดยล็อต 3 มีความพิเศษ คือ ได้ดึงห้าง ร้านค้าท้องถิ่นเข้าร่วมลดราคาด้วย มีสินค้าลดราคา 4,845 รายการ ลดสูงสุด 68% ล็อต 4 พิเศษขึ้นไปอีก รอบนี้ลงลึกถึงระดับอำเภอทั่วประเทศ 878 อำเภอ โดยนำสินค้าไปจัดลดราคาทุกอำเภอ มีสินค้าเข้าร่วมลดราคา 3,629 รายการ ล็อต 5 เป็นล็อตลดราคา Back to School เพื่อช่วยลดภาระให้ผู้ปกครอง มีสินค้าร่วมลดราคากว่า 1,000 รายการ ช่วงเปิดเทอม 1 ก.ค.2563 ล็อต 6 ได้ร่วมมือกับร้านโชห่วย ร้านค้าในสังกัดกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง นำสินค้ามาลดราคากว่า 400 รายการ ลดสูงสุด 50% เริ่ม 12 ส.ค.-30 ก.ย.2563 และล็อต 7 ลดราคาสินค้าอีก 13,700 รายการ วันที่ 1-30 พ.ย.2563 สูงสุด 70%
         
ปิดท้ายด้วยการลดราคา “พาณิชย์ ลดปัง ข้ามปี New Year Grand Sale” มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย โดยได้ร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ห้างค้าปลีกค้าส่ง และผู้ผลิตยางรถยนต์ ลดราคาสินค้า 10-70% สูงสุด 80% พร้อมกันทั้งประเทศกว่า 2 หมื่นสาขา เริ่ม 14 ธ.ค.-12 ม.ค.2563
         
เรียกว่า จัดหนัก จัดเต็ม ลดกันทั้งปีจริงๆ
 
“หน้ากากอนามัย” ปั่นป่วน วุ่นวายที่สุด 


          
นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.2563 ทำให้มีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้น และราคาก็ขยับขึ้นตามเป็นรายวัน
         
ตอนนั้น กระทรวงพาณิชย์เชิญโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่มีอยู่มาประชุม ได้ข้อสรุปว่า หน้ากากอนามัย มีเพียงพอกับความต้องการใช้ 
         
แต่ไม่รู้ ไปพูดหลุดอีท่าไหน ดันมีข่าวออกสื่อ มีสต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คือ มีวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น

คนก็เลยจำภาพ ในสต๊อกมีหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น แต่พอหาซื้อไม่ได้ มีราคาแพง แล้วยังไปโผล่ขายทางช่องทางออนไลน์เต็มไปหมด สร้างความปั่นป่วนไปหมด ทุกคนก็มารุมโวยกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ต้องประกาศขึ้นบัญชีควบคุมหน้ากากอนามัย กำหนดราคาขายไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท ส่วนที่นำเข้าให้บวกราคาได้สูงสุดไม่เกิน 60%

แต่ปัญหาก็ยังไม่ยุติ เพราะคนยังตามหาหน้ากากอนามัย จนนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งเด้งอธิบดีกรมการค้าภายในไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นัยว่า “เชือดโชว์ หาแพะ” เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาแบบไหนแล้ว ผลิตยังไง ก็ไม่พอความต้องการ หวังเพื่อจะลดกระแสคนไม่พอใจรัฐบาลลง แม้สุดท้าย จะคืนตำแหน่งให้ก็ตาม  

จากนั้น ได้มีการจับเป็นรายวัน แถลงเป็นรายวัน จนปัญหาเริ่มเบาลง เพราะไม่มีคนติดเชื้อในประเทศ และมีการยกเลิกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ผลิตขายหน้ากากอนามัยในประเทศ เมื่อเดือนส.ค.2563 ทำให้หน้ากากอนามัย “มีเพียงพอ” ไปห้าง ร้านขายยา ตลาดนัด มีวางขายกันเกลื่อน ราคามีตั้งแต่ 50 ชิ้น 50 บาทไปจนถึงสูงสุด 125 บาท เพราะกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงแรกๆ ที่ทำได้เพียงวันละ 1.2 ล้านชิ้น เพิ่มเป็นวันละ 5 ล้านชิ้น

พอมาเดือนธ.ค.2563 เกิดการติดเชื้อในประเทศจากตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร ขยายวงกว้างไปจนถึงบ่อน แล้วลุกลามไปเกือบทั้งประเทศ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นรายวัน จนรัฐบาลต้องประกาศคุมเข้มบางจังหวัด  

หน้ากากอนามัยกลับมามีปัญหาอีกครั้ง จากที่เคยมีวางขาย ก็หายไปจากตลาด เพราะคนซื้อเพิ่มขึ้น แต่รอบนี้ ไม่มีปัญหาราคาแพง หรือการขายเกินราคา เพราะกระทรวงพาณิชย์เอาจริง จับจริง แล้วยังคุมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ หากพบการกระทำความผิด เล่นงานตามกฎหมายอย่างหนัก

เป็นสินค้าที่ป่วนตั้งแต่ต้นปี ยันปลายปี    
 
“ส่งออก” ติดลบต่อเนื่องมากที่สุด



ก่อนเกิดโควิด9-19 ระบาด กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2563 ไว้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ 3% และเริ่มต้นปี ก็ดูท่าว่าจะไปได้ดี แม้ตอนนั้น จะมีปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
         
แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าเซลส์แมนประเทศ ได้แก้ปัญหาด้วยการนำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจาซื้อขายสินค้าด้วยตนเอง โดยไปแล้วที่จีน อินเดีย สหรัฐฯ ตุรกี เยอรมนี ยอดขายกำลังปัง ทำรายได้เข้าประเทศแล้วหลายหมื่นล้าน จนแตะระดับแสนล้าน และมีเป้าที่เดินทางอีกรวม 18 ประเทศ สถานการณ์กำลังดีขึ้น แต่พอมาเจอโควิด-19 ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง ก็เลยกระทบถึงยอดการส่งออกสินค้าไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
         
กลับมาดูที่ตัวเลขการส่งออก เดือนม.ค.2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปี 2563 การส่งออกกลับมาขยายตัว 3.35% เป็นการกลับมาเป็นบวกได้ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการส่งออกน่าจะฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่เดือนก.พ.2563 ส่งออกกลับมาติดลบ 4.47% เพราะเริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และราคาน้ำมันที่ลดลง เดือนมี.ค.2563 กลับมาบวก 4.17% เพราะได้ผลดีจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มฟื้นตัวจากสงครามการค้า เดือนเม.ย.2563 ก็ยังโต 2.12% จากการส่งออกเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม
         
พอมาเดือนพ.ค.2563 ส่งออกติดลบสูงถึง 22.50% ติดลบมากที่สุดในรอบ 130 เดือน หรือนับตั้งแต่เม.ย.2559 โดยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การบริโภคลดลง การขนส่งมีปัญหา ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อ เดือนมิ.ย.2563 ติดลบ 23.17% ลบสูงสุดรอบ 131 เดือน ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนเดิม เดือนก.ค.2563 ติดลบ 11.37% ลบน้อยลง และถือว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว เดือนส.ค.2563 ติดลบเหลือ 7.94% โดยการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากการที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น เดือนก.ย.2563 ติดลบ 3.86% เพราะสินค้าหลายตัวเริ่มส่งออกได้ดีขึ้น เดือนต.ค.2563 กลับมาติดลบเพิ่มขึ้น 6.71% แต่ก็ดีกว่าที่คาดไว้ เพราะฐานปีที่แล้วสูง เดือนพ.ย.2563 ติดลบ 3.65% ถือว่าเริ่มดีขึ้น จากเศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัว

ส่วนตัวเลขเดือนธ.ค.2563 ยังไม่ออก แต่มีการประเมินไว้ว่า ถ้าส่งออกได้มูลค่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 6.86% ส่งออกได้มูลค่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.6% และมูลค่า 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะติดลบเหลือ 6.45% ถือว่าต่ำกว่าที่ประมาณการณ์เอาไว้ว่าทั้งปีจะติดลบ 7%

สรุปทั้งปี 2563 (11 เดือน) การส่งออกติดลบรวมทั้งสิ้น 8 เดือน เป็นบวกได้ 3 เดือน ถือว่าติดลบยาวนานมากที่สุดในรอบ 1 ปี เลยก็ว่าได้ 
 
ลงนาม “อาร์เซ็ป” เขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุด



          หลังจากปี 2562 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน สามารถผลักดันให้ 15 ประเทศ (อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ยกเว้นอินเดีย) บรรลุผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ได้แล้ว
         
พอมาปี 2563 เป็นขั้นตอนของการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลง จนในที่สุด 15 ประเทศก็สรุปกันได้ และมีการลงนามกันผ่านการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ฝ่ายไทยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม โดยมีผู้นำร่วมเป็นสักขีพยาน
         
ผลจากการลงนามอาร์เซ็ป ทำให้เกิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิดขึ้น เพราะอาร์เซ็ปครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มีจีดีพีรวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก
         
อย่างไรก็ตาม การลงนามในครั้งนี้ แม้จะไม่มีอินเดีย แต่สมาชิกอาร์เซ็ป ได้เปิดโอกาสให้อินเดียกลับเข้ามาร่วมความตกลงในฐานะสมาชิกดั้งเดิมได้ทุกเวลา เพราะมีบทบาทสำคัญในการเจรจามาตั้งแต่ปี 2555
         
สำหรับการบังคับใช้ความตกลงอาร์เซ็ป จะเริ่มบังคับใช้ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ และคู่เจรจา 3 ประเทศให้สัตยาบัน
         
หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเดินหน้าเปิดประโยชน์ภายใต้อาร์เซ็ป เพื่อชี้ช่องทาง ชี้โอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อที่จะได้เตรียมตัว เตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 
บล็อกเชน“ข้าวอินทรีย์” ที่สุดแห่งความเชื่อมั่น
         

มีโครงการหนึ่งที่ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ แม้จะไม่ค่อยปรากฏข่าวออกสื่อมากนัก แต่ก็เป็นโครงการหนึ่งที่หลายคนจับตามองว่าจะประสบความสำเร็จและเป็นจริงได้เมื่อใด โดยโครงการที่ว่า ก็คือ บล็อกเชน “ข้าวอินทรีย์” 
         
ปกติบล็อกเชน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแวดวงการเงิน เป็นเรื่องการตรวจสอบที่มาที่ไปของเงิน อย่างการตรวจสอบสกุลเงินดิจิทัล หรือบิทคอยน์ แต่ปัจจุบันได้มีการนำบล็อกเชนมาใช้กับสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ และเรียกความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค
         
กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงจุดเด่นของบล็อกเชน และได้นำมาประยุกต์ใช้กับข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้านำร่องตัวแรก โดยระบบสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ข้าวอินทรีย์ถุงนี้ ใครเป็นคนปลูก ปลูกที่ไหน ใครผลิต ใครแปรรูป ทำที่โรงงานไหน รวมทั้ง จะรู้ว่าผ่านมาตรฐานใด ได้รับการตรวจรับรองจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานหน่วยงานใด เรียกว่า รู้หมด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
         
ปัจจุบัน มีกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการนำร่องแล้ว 7 ราย และในกลุ่มนำร่องมีการทดลองติดสติกเกอร์ TraceThai กับสินค้าล็อตจริงแล้ว 3 ราย ได้แก่ บ้านสวนข้าวขวัญ ปลูก สี แพ็กข้าวอินทรีย์หลายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวกล้องหอมปทุมเทพ , กรีนลิฟวิ่ง ปลูก สี แพ็กข้าวอินทรีย์หลายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอรี่ และซองเดอร์ ผลิตสินค้าแปรรูปจากข้าวอินทรีย์ เช่น โจ๊กข้าวและผักอินทรีย์สำหรับเด็ก
         
โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์ TraceThai.com แค่สแกน QR Code หรือตรวจสอบจากเลขล็อตการผลิตบนฉลากสินค้าก็รู้ที่มาที่ไปได้เลย
         
สำหรับผลการทดลอง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งตัวเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ และผู้ตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ที่เห็นตรงกันว่า TraceThai ทำให้ไทยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรายแรกๆ ของโลก ที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับข้าวอินทรีย์ของไทยเหนือคู่แข่ง ส่วนผู้ซื้อ ผู้บริโภค ก็มีความมั่นใจ และรู้ว่าสินค้าที่ตัวเองซื้อมีที่มาที่ไปอย่างไร ใครปลูก ใครผลิต ใครรับรอง
         
เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย
 
“Mirror-Mirror” โครงการโดนใจที่สุด
         


หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการปรับรูปแบบการทำงานโดยเน้นช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม สัมมนา การประชุม การเจรจาการค้า การเจรจาธุรกิจ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
         
ทั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ และถือเป็นต้นแบบของการจัดกิจกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกเลยก็ว่าได้ คือ โมเดลการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ “Mirror-Mirror”
         
กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานแสดงสินค้ารูปแบบ Mirror-Mirror เป็นครั้งแรกที่งานแสดงสินค้า Fashion World Tokyo Oct 2020 ระหว่างวันที่ 27–29 ต.ค.2563 ณ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดงานผ่านระบบวิดีโอทางไกล
         
สำหรับโมเดล Mirror-Mirror คือ การส่งสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยที่ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเดินทางไปร่วมงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าในต่างประเทศสามารถสัมผัสสินค้าจริง มีทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนประเทศ มีล่ามเป็นพนักงานขาย ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้ผู้ซื้อผู้ขายได้พบและเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์เสมือนอยู่ในที่เดียวกัน ทำให้ระยะทางไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ซื้อผู้ขายและการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป
         
ผลจากการจัดงาน สามารถฉีกกรอบความท้าทายในยุค New Normal ผู้ขายสามารถถ่ายทอดจุดเด่นของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ผู้ซื้อเข้าใจได้ สามารถเจรจาธุรกิจ ตกลงซื้อขายสินค้ากันได้เลย ทำให้ระยะทางไม่ได้เป็นปัญหา
         
เรียกได้ว่า ไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบการจัดงานแสดงสินค้ารูปแบบใหม่ของโลก แต่ยังเป็นที่ถูกอก ถูกใจ ของผู้ประกอบการไทยด้วย          
 
ทวงแชมป์ “ข้าวดีที่สุดของโลก”



มีข่าวดีส่งท้ายปี 2563 สำหรับการประกวดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในงานประชุมข้าวโลก หรือ World Rice Conference จัดโดย The Rice Trader สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 1-3 ธ.ค.2563 และปี 2563 จัดพิเศษกว่าทุกปี คือ เป็นการจัดงานแบบออนไลน์ครั้งแรก
         
ในการประกวดครั้งนี้ มี 5 ประเทศที่ส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวด ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา จีน และสหรัฐฯ มีข้าวที่ส่งไปทั้งหมด 20 ตัวอย่าง โดยไทยส่งไปเพียง 1 ตัวอย่าง คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน

สำหรับการพิจารณา จะมีคณะกรรมการและเชฟอาหารที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติมาร่วมกันตัดสิน โดยอย่างแรกจะดูรูปลักษณ์ของข้าวมีความสวยงาม มีความสะอาดมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจะดูข้าวหลังจากหุงแล้ว โดยให้เชฟทดลองชิม แต่ไม่ระบุว่าเป็นข้าวจากประเทศไหน แล้วมาให้คะแนนรวมกัน
         
ปรากฏว่าข้าวหอมมะลิไทย 105 สามารถชนะเลิศการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก หรือ World’s Best Rice Award 2020 ทั้งเกณฑ์ก่อนหุง และหุงแล้ว เนื่องจากปีนี้ข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งเข้าประกวด มีคุณภาพดี จากสภาพดิน ฟ้า อากาศเอื้ออำนวย ก่อนเก็บมีอากาศหนาว ทำให้ข้าวแห้ง เมล็ดใส และหอมมากกว่าปกติ
         
ถือว่าไทยกลับมาทวงแชมป์ได้อีกครั้ง โดยเวียดนามได้อันดับ 2 และกัมพูชาได้อันดับ 3 และเป็นแชมป์ครั้งที่ 6 จากที่จัดมาทั้งหมด 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552
         
โดยผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากปี 2552 ซึ่งเป็นครั้งแรก ไทยเป็นแชมป์ ปี 2553 ไทย ปี 2554 เมียนมา ปี 2555 กัมพูชา ปี 2556 กัมพูชาชนะร่วมกับสหรัฐฯ ปี 2557 ไทยชนะร่วมกับกัมพูชา ปี 2558 สหรัฐฯ ปี 2559 ไทย ปี 2560 ไทย ปี 2561 กัมพูชา ปี 2562 เวียดนาม 
         
เป็นข่าวดีส่งท้ายปีจริงๆ
 
ร้องเรียน “สายด่วน 1569” ฮอตที่สุด  
         


หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์มีสายด่วนให้โทรหาทุกหน่วยงาน ตัวเลข 4 ตัวบ้าง เป็นโทรศัพท์ปกติบ้าง เริ่มจากตัวกระทรวงพาณิชย์เอง มีสายด่วน 1203 กรมการค้าภายใน 1569 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 1169 กรมการค้าต่างประเทศ 1385 กรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1570 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 02 5077555 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 02 5075793
         
แต่ถ้าถามว่าหน่วยงานไหนฮอตฮิตที่สุดในรอบปี 2563 คนโทรกระหน่ำมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น “สายด่วน 1569” ของกรมการค้าภายใน
         
ในรอบปี 2563 มีประชาชนโทรเข้ามาร้องเรียนจำนวน 5,164 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวนกว่า 3,700 เรื่อง ตรวจสอบเสร็จแล้ว 4,643 เรื่อง พบมีความผิดและดำเนินคดี 583 เรื่อง ไม่พบความผิด 4,060 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 521 เรื่อง
         
โดยสินค้าที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ หมวดของใช้ภายในบ้าน 2,556 คำร้อง และเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุด คือ หน้ากากอนามัย 2,470 เรื่อง ส่วนใหญ่ร้องเรียนการจำหน่ายเกินราคาและจำหน่ายราคาแพง โดยได้ดำเนินคดีไปแล้ว 435 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบอีก 88 เรื่อง ส่วนที่เหลือ 1,947 เรื่อง ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติตามที่ร้องเรียน
         
ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มที่ร้องเรียนรองลงมา มี 1,557 คำร้อง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าไข่ไก่ มียอดร้องเรียนมากสุด 787 คำร้อง โดยได้ดำเนินคดีไปแล้ว 28 คดี และยังมีการร้องเรียนในหมวดบริการ 109 คำร้อง หมวดการเกษตร 55 เรื่อง หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 104 เรื่อง เป็นต้น
         
นอกจากนี้ มีการร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการคนละครึ่ง 379 คำร้อง พบผู้กระทำผิด 23 ราย ส่วนใหญ่ไม่ติดป้ายแสดงราคา ราคาขายไม่ตรงกับที่ขาย บางรายแสดงราคาเป็นภาษาต่างประเทศ ส่วนร้านธงฟ้า มีทั้งหมด 11 ร้านที่ทำผิดเงื่อนไข อยู่ในกรุงเทพฯ 5 ร้าน ต่างจังหวัด 6 ร้าน ซึ่งได้เพิกถอนการเข้าร่วมโครงการไปแล้ว
         
สำหรับปี 2564 แว่วมาว่า กรมการค้าภายในจะทำแอปพลิเคชัน “สายด่วน1569” เพื่อให้ประชาชนร้องเรียนได้ผ่านแอปฯ เพื่อแจ้งพิกัดร้านค้า ภาพถ่าย เพื่อให้เกิดความชัดเจน จะได้เอาผิดได้ง่ายขึ้น
         
เตรียมตัวร้องเรียนกันได้เลย
 
“ทุจริตถุงมือยาง” ฉาวที่สุดแห่งปี
         


กระทรวงพาณิชย์ มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด คือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งเดิมชื่อเสียง ก็ไม่ค่อยจะดีนัก เคยมีปัญหาที่เข้าไปพัวพันกับโครงการทุจริตในอดีต ทั้งการรับจำนำข้าว จำนำมันสำปะหลัง และพืชเกษตรตัวอื่นๆ
         
ปัจจุบัน หลังจากรัฐบาลได้ยกเลิกโครงการจำนำข้าวไปแล้ว ก็นึกว่า อคส. จะไม่มีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นอีก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะก่อนจะสิ้นปีไม่กี่เดือน ก็มีเรื่องฉาวเกิดขึ้น เริ่มจากนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งย้าย “พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง อคส.” ซึ่งทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการ อคส. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแบบเร่งด่วน
         
สืบไปสืบมา ก็มาโป๊ะแตกตรงที่ว่า รักษาการผอ.อคส. คนนี้ ไปทำสัญญาจัดซื้อและทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางกับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่าสูงถึง 112,500 ล้านบาท และได้นำเงินอคส. จำนวน 2,000 ล้านไปจ่ายเป็นค่ามัดจำ โดยไม่เสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติ เข้าข่ายทุจริต และใช้อำนาจโดยมิชอบ
         
ล่าสุด นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. คนปัจจุบัน ที่เพิ่งเข้ามารับเผือกร้อน ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนและกล่าวหา พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ กับพวก ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมาย และได้แจ้งต่อสำนักงานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมทั้งได้กล่าวทุกข์ร้องโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว โดยขณะนี้ ทุกหน่วยงานกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
         
ถือเป็นเรื่อง “ฉาว” ที่สุดแห่งปีของกระทรวงพาณิชย์เลยก็ว่าได้   
 
“มัลลิกา-ทีมงาน”ได้ใจสื่อมากที่สุด



นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่มีชื่อปรากฏในหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านช่องทางของตัวเองอย่าง เฟซบุ๊ก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ Aoodda” และสื่อทั่วไป ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ  
         
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อยู่ที่ตัวนายจุรินทร์เองที่ให้ความสำคัญกับสื่อ โดยมองว่าสื่อเป็นกระบอกเสียงที่จะรายงานผลการทำงานให้กับประชาชนได้รับทราบ แต่ที่จะละเลยและไม่กล่าวถึงไม่ได้ ก็คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง อย่าง
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และทีมงาน
         
ทุกครั้งที่นายจุรินทร์ไปปฏิบัติภารกิจ นางมัลลิกาและทีมงาน จะคอยไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ของนายจุรินทร์ เพื่อให้แฟนเพจได้ติดตาม และยังได้สรุปบทสัมภาษณ์ ก่อนนำแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน ชนิดที่ว่าสัมภาษณ์เสร็จปุ๊บ ข่าวแจกมาปั๊บ และมาพร้อมภาพ พร้อมคลิป

ยุคนี้ “สื่อ” เป็นธุรกิจหนึ่งที่ถูกดิสรับชัน หลายสื่อต้องปิดตัวลง หลายสื่อแม้จะยังคงอยู่ แต่ก็ต้องลดต้นทุน ลดจำนวนคน ทำให้มีสื่อลงทำงานภาคสนามลดลง บางครั้ง บางงาน ไม่สามารถเดินทางไปทำข่าวได้ แต่ได้รับความอนุเคราะห์ และช่วยเหลือจากนางมัลลิกาและทีมงาน ช่วยเติมเต็มในจุดที่ขาด  
         
เรียกได้ว่า วิน วิน ทั้งสองฝ่าย ทำให้นายได้ออกสื่อ แล้วยังได้ใจสื่อไปเต็มๆ
 
ติดตามข่าวสาร “พาณิชย์” ง่ายที่สุด
       

ปิดท้ายด้วยช่องทางการติดตามข่าวสารของกระทรวงพาณิชย์ ที่จัดทำโดยทีมงาน CNA Online โดยสามารถติดตามได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

Line@ ติดตามได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i

Twitter ติดตามได้ที่ https://twitter.com/CNAOnlineTwit

Facebook Fanpage ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/commercenewsagency

Youtube ติดตามได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UC20isyIVU69Oi2BHAk0pPDg

Instagram ติดตามได้ที่ https://www.instagram.com/cna2you/

เป็น 5 ช่องทางที่ติดตามข่าวสารกระทรวงพาณิชย์ ได้ง่ายสุด และเร็วที่สุด

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง