
ปัจจุบันคงเคยได้ยินได้เห็นคำว่า สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual Use Items (DUI) กันมาบ้าง แต่หลายคนยังนึกภาพไม่ออกว่า มันคืออะไร และเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไร จะมีผลดี ผลเสียอะไรบ้าง หากไม่มีการควบคุม ดูแล สินค้าดังกล่าวอย่างดีพอ แล้วถ้าประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยอยู่เฉยๆ ไม่สนใจ จะเกิดอะไรขึ้น
ก่อนที่จะไปหาคำตอบ ขอย้อนให้เห็นความเป็นมาของการดูแลสินค้าที่ใช้ได้สองทางกันก่อน เริ่มจากปี 2533 เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ในปี 2547 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Security Council ได้ออกข้อมติ UNSCR ที่ 1540 มีสาระสำคัญ คือ ให้ประเทศต่างๆ ออกมาตรการในการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือ Weapons of Mass Destruction เรียกสั้นๆ ว่า WMD รวมถึงสินค้าที่ใช้ได้สองทาง และต้องมีกฎหมายที่เหมาะสมในการดูแลการแพร่ขยายของสินค้าดังกล่าว
และนี่ คือ ที่มา ที่ทำให้ประเทศไทยต้องจัดทำระบบบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ที่มีประสิทธิภาพ
ทีนี้ มาทำความเข้าใจกันชัดๆ ในการควบคุมดูแลสินค้าที่สามารถนำไปใช้ทำอาวุธร้ายแรงได้ มีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง ณ ตอนนี้อย่างน้อย 4 คำ ที่จะต้องทำความเข้าใจ ดังนี้
สินค้าที่ใช้ได้สองทาง หรือ DUI เป็นสินค้าที่มีใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่สามารถนำไปใช้ทางดีก็ได้ ทางร้ายก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เส้นใยคาร์บอนที่ใช้ผลิตอุปกรณ์กีฬา ได้แก่ ไม้เทนนิส ไม้แบดมินตัน สามารถใช้ผลิตชิ้นส่วนของขีปนาวุธ หรือสารไตรเอธาโนลามีนที่ใช้ทำสบู่ ผงซักฟอก หรือโลชั่น ก็นำมาเป็นสารพิษ ควันพิษ หรือทอเรียมที่ใช้ผลิตไส้ตะเกียง ก็นำมาดัดแปลงเป็นอาวุธนิวเคลียร์ หรือเซรุ่ม ที่นำมาผลิตเป็นอาวุธชีวภาพทำลายระบบประสาทและระบบทางเดินหายใจ
อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือ WMD เป็นอาวุธที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์ สัตว์ หรือพืชจำนวนมาก และอาจทำลายสภาพแวดล้อมของโลกอย่างมหาศาล เช่น อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ เป็นต้น
พ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของไทย (Trade Control on Weapons of Mass Destruction related Items) หรือ TCWMD
และสุดท้าย e-TMD เป็นระบบที่นำมาใช้ในการควบคุมดูแลสินค้าที่ใช้ได้สองทาง
ที่นี้ ก็พอจะเห็นภาพกันแล้ว มาดูกันต่อว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการเกี่ยวกับการดูแลสินค้าเหล่านี้ยังไง เริ่มจากได้มีการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและกำหนดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2561
โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติ คือ 1.กรณีส่งออก DUI จะต้องขออนุญาตก่อนส่งออก และ 2.กรณีส่งออกสินค้ามีพิกัดอัตราศุลกากร (HS Code) 8 หลักเข้าข่ายเป็น DUI แต่ตรวจสอบแล้วไม่มีคุณสมบัติทางเทคนิคเป็น DUI ผู้ส่งออกจะต้องรับรองตนเองก่อนส่งออก
แต่เพื่อให้ทุกอย่างง่ายขึ้น กรมการค้าต่างประเทศได้พัฒนาระบบ IT เรียกว่า e-TMD เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการตรวจสอบคุณสมบัติสินค้า การรับรองตนเอง และการขออนุญาตส่งออกออนไลน์ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังได้ยกร่างพ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของไทย โดยปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตรวจร่างตามกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งหาก พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ ประเทศไทยจะมีกฎหมายในการกำกับดูแลการส่งออก การผ่านแดน การถ่ายลำ การเป็นคนกลาง รวมถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ WMD ได้ครบถ้วนตามหลักสากล ซึ่งจะมาทดแทนประกาศฯ ที่ออกในปี พ.ศ.2558 ที่ครอบคลุมเพียงการส่งออกสินค้าที่จับต้องได้เท่านั้น
หากถามว่า แล้วที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างไร ก็ต้องบอกว่า ได้ทำมาตั้งแต่ปี 2557 โดยได้เตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำระบบ TCWMD การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานระบบ e-TMD ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนการให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชนในการจัดทำระบบบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก
และหากถามว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการควบคุมดูแลสินค้าที่สามารถนำไปใช้อาวุธร้ายแรงมีอะไรบ้าง ประโยชน์ทางตรงที่เห็นได้ชัดเจนเลย ก็คือ ไทยจะมีบทบาทในเวทีโลกในการช่วยลดการแพร่ขยาย WMD และประโยชน์ทางอ้อม การบริหารการค้าต่างประเทศที่ปลอดภัยจะทำให้เราเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า สามารถดึงดูดการลงทุนที่เป็นไฮเทคโนโลยีมากขึ้น แสดงศักยภาพในการสร้างโอกาสการเป็นศูนย์กลางการส่งออก การถ่ายลำ และการผ่านแดนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ในภูมิภาคอาเซียนตอนบน เกิดการสร้างงานและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทางการด้านผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อีกประการสำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้ประเทศคู่ค้านำมาเป็นเงื่อนไขในการกำหนด NTMs ในอนาคต ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนที่มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและมีความใกล้ชิดกับไทย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างมีมาตรการการบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD และกฎหมายเฉพาะเพื่อบังคับใช้ในเรื่องดังกล่าวแล้ว หากประเทศใดมีมาตรการกำกับดูแลสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ก่อน ก็ย่อมได้เปรียบกว่าในการได้รับความไว้วางใจและความเชื่อถือจากนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้า และในที่สุด ก็จะทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง