​ตามไปดู มาตรการรับมือโควิด-19 ของหน่วยงาน “พาณิชย์” มีแผนอะไรกันบ้าง

img

รัฐบาลได้มีมาตรการให้หน่วยงานราชการต่างๆ ทำแผนรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการแก่ประชาชน ที่จะต้องไม่มีการหยุดชะงัก และกระทบกับการเข้ามาใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนทั่วไป รวมไปถึงการปรับแผนด้านการทำงานโดยให้ใช้วิธีการ Work from home แต่จะต้องไม่กระทบกับการทำงานในภาพรวม และให้แต่ละหน่วยงานไปจัดทำแผนการทำงานให้ชัดเจน แล้วหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการในเรื่องนี้อย่างไร ไปติดตามดูกันได้
         
ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมร่วมกัน และได้กำหนดมาตรการรับมือโควิด-19 ออกมาแล้ว นโยบาย Work from home ให้แต่ละหน่วยงานไปพิจารณา เบื้องต้นให้เน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ส่วนกลุ่มอื่น หากจะมีการดำเนินการ ต้องไม่กระทบกับการทำงานหลัก , ปรับรูปแบบการสแกนลายนิ้วมือ ให้เซ็นชื่อแทน และปรับระยะเวลาการเข้างาน เลิกงาน , กำหนดจุดเข้า-ออกอาคาร และการตรวจวัดอุณหภูมิ ส่วนตลาดนัดกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งปิดการจำหน่ายจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.2563 และโรงอาหารจัดสถานที่ใหม่ ให้นั่งห่างกัน และแบ่งเวลาทานข้าวให้เหลื่อมเวลากัน  
         
โดยปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ได้มีการดำเนินการตามมาตรการรับมือโควิด-19 แล้ว ดังนี้
         
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ถือเป็นหน่วยงานให้บริการภาครัฐ ที่มีภาคธุรกิจและประชาชนเข้ามาขอรับบริการและติดต่อราชการเป็นจำนวนมาก ได้ออกมาตรการป้องกัน เพื่อปกป้อง ป้องกันโรค แก่ผู้มาขอรับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ โดยกำหนดให้ทุกพื้นที่ภายในกรมฯ และหน่วยงานให้บริการที่ตั้งอยู่ในสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต จำนวน 6 เขต ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ต้องสะอาดปลอดโรคปลอดภัย ประกอบด้วย การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสแบบเข้มข้น 99.99% ภายในสำนักงาน จัดบริการเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องใช้น้ำ บริเวณหน้าหน่วยให้บริการประชาชน และภายในห้องปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ทุกห้อง แจกหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่ช่วยกันฝุ่นละอองและเชื้อโรคทั่วไป มีแผ่นกรองอากาศด้านใน สามารถซักทำความสะอาดได้ มีอายุการใช้งานนาน 2 ปี แก่เจ้าหน้าที่กรมฯ ทุกคน ทำความสะอาดภายในลิฟต์โดยสารและปุ่มกดทุกชั่วโมง เป็นต้น
         
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนและขอความร่วมมือผู้ประกอบการและประชาชน ที่จะทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ หากธุรกรรมนั้นต้องมีการชำระเงิน ก็สามารถชำระเงินผ่านช่องทาง e-Payment หลากหลายธนาคารได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางเข้าไปในที่ชุมชนที่มีผู้คนจำนวนมาก ลดภาวะเสี่ยง ลดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
         
กรมการค้าต่างประเทศ ได้ขยายระยะเวลาผลการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด (ผลตรวจต้นทุน) เพื่อใช้ประกอบการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับผลการตรวจคุณสมบัติของสินค้าที่จะหมดอายุลงในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.–30 ก.ย.2563 โดยให้ขยายผลบังคับใช้ไปได้อีก 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผลการตรวจดังกล่าวหมดอายุ นอกจากนั้นแล้วผู้ประกอบการยังสามารถรับผลการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด ผ่านทางระบบ ROVERS ได้ แทนการเข้ามารอรับผลที่เป็นเอกสารด้วยตนเองที่กรมฯ ซึ่งระบบจะปรากฏหมายเลขอ้างอิง และวันที่ตรวจสอบ และผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประกอบการยื่นขอหนังสือรับรองต่างๆ กับสำนักบริการการค้าต่างประเทศ ต่อไปได้
         
สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่บัตรประจำตัวผู้ส่งออก–นำเข้าสินค้า และบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจกำลังจะหมดอายุลงในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.–31 พ.ค.2563 ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอต่ออายุบัตรได้ทางไปรษณีย์ และยังสามารถส่งคำขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการส่งออก–นำเข้าสินค้า ได้ผ่านทางไปรษณีย์ โดยสำนักบริการการค้าต่างประเทศจะดำเนินการพิจารณาผลการอนุมัติพร้อมแจ้งเลขทะเบียนดังกล่าวให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบผ่านระบบลงทะเบียนผู้ประกอบการ (Registration Database)

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้วางมาตรการ Work from home สำหรับ 3 หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ด้านการรับจดทะเบียน คือ กองสิทธิบัตร กองสิทธิบัตรออกแบบ กองเครื่องหมายการค้า ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานจากที่บ้านได้ โดยนำระบบ VDI และ e-portal ที่รองรับการทำงานทางไกลมาใช้ เพื่อลดความเสี่ยงและความแออัดในสถานที่ทำงาน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาทำงานตามปกติ ได้มีมาตรการ เช่น การเข้างานเหลื่อมเวลา การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณอาคารสำนักงาน การคัดกรองประชาชนและเจ้าหน้าที่กรมฯ ก่อนเข้าอาคาร การจัดให้มีแอลกอฮอล์เจลกระจายตามจุดต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีระบบที่อำนวยความสะดวกผู้ยื่นคำขอผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ระบบ e-filing ระบบ e-payment ซึ่งเป็นทางเลือกที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว โดยผู้ยื่นสามารถยื่นผ่านเว็บไซต์ www.ipthailand.go.th ได้ทุกที่ทุกเวลา

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ปรับการจัดกิจกรรมอบรม สัมมนา จากเดิมที่การจัดอบรมจะให้ผู้ประกอบการ ประชาชน มารวมตัวกันในสถานที่ฝึกอบรมจริง เปลี่ยนเป็นการอบรมผ่านทางออนไลน์มากขึ้น มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ในช่องทางต่างๆ ของกรมฯ เช่น เพจของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ และยังมีการจัดกิจกรรมผ่านช่องทาง Webinar ด้วยการเพิ่มระบบ Live Chat ให้สามารถมอนิเตอร์คำถามและข้อสงสัยตรงจากผู้เข้าชมสัมมนาได้แบบเรียลไทม์

ส่วนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ การจัดคณะผู้แทนการค้าและสร้างเครือข่าย รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ โดยได้ทำการปรับแผนจัดกิจกรรมโดยใช้วิธีการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Online Exhibition แทน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เพิ่มการส่งออกในรูปแบบใหม่ๆ สามารถรองรับปัญหาการไม่สามารถเดินทางมาพบกันแบบ Face to Face ได้ โดยจะนำร่องโครงการงานแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์  และจับคู่เจรจาธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ในช่วงเดือนพ.ค.2563 และจะขยายไปสู่สินค้าประเภทอื่นๆ ในช่วงตั้งแต่เดือนพ.ค.-ส.ค.2563 และสำหรับการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ได้ปรับรูปแบบเป็น Online Business Matching โดยการประชุมผ่าน VDO Conference  

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ปรับแผนรับมือการประชุมเจรจาระหว่างประเทศ โดยจะนำระบบการประชุมทางไกล หรือการประชุมเสมือนจริงมาใช้ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศต่างๆ เพราะขณะนี้เวทีการเจรจาการค้าได้เลื่อนการประชุมออกไปแล้ว ทั้งการประชุมขององค์การการค้าโลก (WTO) การประชุมอาเซียนซัมมิต การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก การประชุมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) รวมทั้งการเจรจาทวิภาคีกับคู่เจรจา           

กรมการค้าภายใน ได้ปรับแผนการทำงาน โดยในส่วนของงานบริการรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับราคาสินค้า ยังคงสามารถร้องเรียนได้ผ่านสายด่วน 1569 หรือทางช่องทางออนไลน์ของกรมการค้าภายใน และในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งการรักษาความสะอาดการใช้ลิฟต์ การประชุม และการจัดวัดไข้ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ขณะที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้เตรียมการแถลงข่าวหรือชี้แจงการทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กไลฟ์ เพื่อลดการร่วมตัวของคนหมู่มาก

ทั้งหมดนี้ คือ มาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในส่วนของแผนการทำงาน แผนการให้บริการผู้ประกอบธุรกิจและภาคประชาชน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ถือเป็นมาตรการในเบื้องต้น โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ และตามนโยบายของรัฐบาลที่อาจจะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอนาคต

>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง