​ใครเล่นกล สต๊อก “หน้ากากอนามัย”

img

ไม่รู้ว่า “พาณิชย์” โดนหลอกหรือเปล่า เพราะจนวันนี้ ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า สต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นไปไหน ไปอยู่ในมือใคร
         
หากยังจำกันได้ ย้อนกลับไปช่วยปลายเดือนม.ค.2563 ซึ่งเริ่มมีข่าวไวรัสโคโรนา (ชื่อเดิม) ระบาด คนเริ่มต้องการซื้อหน้ากากอนามัยกันเพิ่มขึ้น ผนวกกับความต้องการซื้อเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้มีความต้องการใช้มากขึ้น
         
ตอนนั้น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้เข้ามาแก้ไขปัญหาในทันที
         
วันที่ 29 ม.ค.2563 กรมการค้าภายในได้เชิญผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ประมาณ 10 โรงงานมาหารือ โดยผลการหารือผู้ผลิตยืนยันว่ามีสต๊อกหน้ากากอนามัยอยู่ในมือราวๆ 200 ล้านชิ้น ใช้เพียงพอได้ถึง 4-5 เดือน แม้ว่าความต้องการจะเพิ่มจาก 30 ล้านชิ้นต่อเดือนเป็น 40-50 ล้านชิ้นต่อเดือนก็ตาม
         
วันที่ 30 ม.ค.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์การผลิตถึงโรงงาน และได้รับคำยืนยันว่าสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการ ผู้ผลิตทุกรายต่างเร่งเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ พร้อมกับระบุตัวเลขสต๊อกมีไม่ต่ำกว่า 200 ล้านชิ้นเหมือนเดิม แต่ในระหว่างนี้ กลับปรากฏปัญหาว่า ประชาชนไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ หรือหาซื้อได้ ก็มีราคาแพงเกินจริง
         
วันที่ 3 ก.พ.2563 นายจุรินทร์ ได้แก้ไขปัญหา โดยได้เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาให้หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และวัตถุดิบผลิตหน้ากากอนามัย เป็นสินค้าควบคุม เพื่อที่จะได้มีมาตรการออกมาใช้บริหารจัดการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 4 ก.พ.2563 โดยเหตุผลที่ต้องเสนอให้เป็นสินค้าควบคุม เพราะสิ่งที่ผู้ผลิตเคยระบุว่า มีสต๊อก 200 ล้านชิ้น แต่ในความเป็นจริง ประชาชนยังหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ยาก และมีราคาแพงเกินจริง และไม่สามารถรู้ได้ว่าสินค้าอยู่ที่ไหน อยู่ในมือใคร จับมือใครดมไม่ได้ จึงต้องเสนอให้เป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้มีมาตรการออกมาใช้บริหารจัดการ
         
วันที่ 4 ก.พ.2563 ครม. ได้อนุมัติให้เป็นสินค้าควบคุมตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และนายจุรินทร์ได้ลงนามในประกาศ กกร. กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม พร้อมกับมีมาตรการควบคุมออกมา โดยมาตรการควบคุมที่ว่า เช่น ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ต้องแจ้งสต๊อกของเดือนม.ค.2563 ภายในวันที่ 6 ก.พ.2563 , กำหนดให้การส่งออกตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไปต้องขออนุญาต และต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายให้ชัดเจน เริ่ม 6 ก.พ.2563 เป็นต้นไป
         
วันที่ 5 ก.พ.2563 กรมการค้าภายในได้ประชุมร่วมกับ ห้างโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ขอความร่วมมือให้จำกัดการซื้อหน้ากากอนามัยของประชาชน ไม่เกินคนละ 10 ชิ้น พร้อมขอความร่วมมือผู้ผลิตให้จัดสรรหน้ากากอนามัยมาให้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปจัดสรรให้กับหน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้ เช่น องค์การเภสัชกรรม การบินไทย ร้านขายยา และจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ และขายผ่านร้านธงฟ้า
         
วันที่ 6 ก.พ.2563 กระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งข่าว จะเปิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
         
วันที่ 8 ก.พ.2563 นายจุรินทร์ เปิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยที่กระทรวงพาณิชย์ เป็นวันแรก และจะมีจำหน่ายต่อเนื่อง ไม่กำหนดระยะเวลา
         
วันที่ 11 ก.พ.2563 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เชิญแพลตฟอร์มออนไลน์ Shopee , JD Central และ Lazada มาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางออนไลน์แพง โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรับที่จะไปตรวจสอบ และหากพบมีการขายแพงเกินจริง ก็จะใช้วิธีจากปิดกั้นการมองเห็นจนถึงขั้นบล็อกผู้ขาย ส่วนการขายผ่านทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไอจี ไลน์ กระทรวงพาณิชย์ยืนยันจะมีการติดตามตัวผู้กระทำผิด เหมือนกับที่ตำรวจติดตามพวกทำข่าวเฟกนิวส์
         
วันที่ 12 ก.พ.2563 กรมการค้าภายในสั่งเบรกไม่ให้ส่งออกหน้ากากอนามัย หลังจากผ่านมาแค่ 3 วัน (นับเฉพาะวันทำการ 6 , 7 และ 11 ก.พ.) มียอดขอส่งออกสูงถึง 18.5 ล้านชิ้น
         
วันที่ 13 ก.พ.2563 กรมการค้าภายในหารือกับผู้ส่งออกรวม 50 ราย โดยผู้ส่งออกขอผ่อนผันให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ และขออนุญาตส่งออกเพื่อบริจาค เช่น บริจาคไปจีน โดยมีการหารือถึงเงื่อนไขต่างๆ อาทิ หากส่งออกหน้ากากชนิดพิเศษ ก็ต้องผลิตหน้าการแบบธรรมดาให้เท่ากับที่ส่งออก เพื่อขายในประเทศ ส่วนการบริจาค ถ้าบริจาคเท่าไร ให้แบ่งครึ่งหนึ่งบริจาคในประเทศ ซึ่งผู้ส่งออกยินยอม แต่เงื่อนไขนี้ ได้นำเสนอนายจุรินทร์พิจารณาแล้ว ยังไม่ทราบผล ขณะที่ยอดรวมการขออนุญาตส่งออกรวม 4 วัน (6 , 7 , 11 และ 12 ก.พ.) พุ่งขึ้นไปเป็น 21 ล้านชิ้น แต่ยังไม่มีการอนุมัติให้มีการส่งออกใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมขีดเส้น วันที่ 14 ก.พ.2563 เป็นวันสุดท้ายที่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ต้องแจ้งสต๊อก หากใครไม่แจ้งจะมีความผิดตามกฎหมาย
         
วันที่ 14 ก.พ.2563 กระทรวงพาณิชย์ยังคงกระจายหน้ากากอนามัยที่ได้รับจากผู้ผลิต ให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน เช่น องค์การเภสัชกรรม การบินไทย ร้านขายยา และเปิดจำหน่ายหน้ากากอนามัย ที่กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระจายผ่านร้านธงฟ้าทั่วประเทศ ส่วนตัวเลขการแจ้งสต๊อก ยังไม่ได้ผลสรุปว่า มีผู้แจ้งสต๊อกเข้ามากี่ราย มีปริมาณหน้ากากอนามัยคงเหลือเท่าไร
         
ถ้าได้ตัวเลขสต๊อก คงจะทำให้รู้ว่า ในช่วงเดือนม.ค.2563 ที่ผ่านมา ใครทำอะไรกับหน้ากากอนามัย ใครเล่นกล ใครหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชน
         
เอาไว้ติดตามกัน จะไปแคะมาให้ดู !!!

>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง