​ที่สุด “พาณิชย์” รอบปี 2561

img

ในรอบปี 2561 กระทรวงพาณิชย์มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีทั้งดี ทั้งร้าย ทั้งสนุก ทั้งตื่นเต้น แบบว่ามีครบรส และหลายๆ เรื่อง ต้องยกให้เป็นที่สุดแห่งปี ซึ่งสำนักข่าว CNA ได้ทำการรวบรวมเอาไว้ ส่วนจะโดนใจ ไม่โดนใจ ไปอ่านกันได้เลย

ขยันที่สุด


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ทำงานส่งท้ายปี โดยกำลังหารือกับผู้ประกอบการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27-28 ธ.ค.2561 

          บุคคลแห่งปีในกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องยกนิ้วให้ ในฐานะผู้ที่ขยันที่สุด คงหนีไม่พ้น “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” หากคนไม่รู้ คงคิดว่าการเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์น่าจะสบาย วันๆ หนึ่ง คงไม่ต้องทำอะไรมาก และถ้าคิดอย่างนั้น ขอบอกว่า “คิดผิด” เพราะในแต่ละวัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ก็มีงานมารอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประชุมผู้บริหารระดับสูง การเดินทางไปเป็นประธานเปิดงาน ที่ต้องแต่ละครั้งต้องขึ้นพูดแสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนงานพาณิชย์ แต่ถ้าไม่มีงานเหล่านี้ ในแต่ละวันก็จะมีวาระการประชุม ไล่ยาว ตั้งแต่ 9 โมง 10 โมง 11 โมง เรื่อยไปจนถึงบ่าย บางครั้งเที่ยง ก็ไม่ได้พักทานข้าว ประชุมเสร็จแล้ว ก็ต้องไปประชุมต่อในช่วงบ่าย กว่าจะได้หายใจหายคอ ก็อาจจะเย็นไปแล้ว นี่ยังไม่รวมวาระที่จะต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ที่ขอเข้าพบ ที่ยังมีแทรกในแต่ละวันอีกมาก หรือกระทั่งช่วงเย็น หากต้องมีงานเลี้ยงรับรอง ก็ต้องไป
          ที่ดูหนักสุด คงหนีไม่พ้นการเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าไม่บอก ก็คงเข้าใจว่า การเป็นรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ คงสบาย ไปทำงานแป๊บเดียว เที่ยวๆ แล้วก็กลับ แต่สำหรับคนชื่อ “สนธิรัตน์” ตรงกันข้ามกับรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ถ้าเป็นการเดินทางประเทศใกล้ๆ ขอทำงานทั้งวันก่อน แล้วเดินทางช่วงเย็นหรือค่ำ ไปถึงดึกๆ แล้วเข้านอน เช้ามาอีกวันทำงานทั้งวัน นัดตั้งแต่เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น แล้วขึ้นเครื่องกลับ บางครั้ง กลับมาถึงแล้ว ไม่ทันได้เข้าบ้าน บินต่อไปต่างจังหวัดอีก เรียกว่า นอนบนเครื่องกันเลย
          ขยันที่สุดแห่งปี คงต้องยกให้ละ  

ได้ใจคนจนมากที่สุด
 
นายสนธิรัตน์ กำลังโปรโมตให้ร้านค้ารายย่อยสมัครเข้าร่วมโครงการ "ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ" แบบใช้มือถือ 
         
          นับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ได้มีส่วนเข้าไปช่วยขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ และรับผิดชอบในการผลักดัน “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” ซึ่งได้เปิดตัวมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560 และผลักดันเรื่อยมา จนวันนี้ ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นอย่างมาก ในฐานะเป็นร้านขายของถูก มีสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้เลือกซื้อจำนวนมาก ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าจากเกษตรกร และผู้ผลิตในชุมชน 
          ปัจจุบันมีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในระบบแล้วกว่า 7 หมื่นร้าน เป็นร้านค้าแบบเครื่องรูดบัตร EDC กว่า 3.3 หมื่นร้าน และเป็นร้านค้าแบบใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” เกือบ 4 หมื่นร้าน โดยมียอดเงินสะพัดจากการจับจ่ายใช้สอยจนถึงสิ้นปี 2561 กว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่เป็นรายได้เข้าสู่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ล่าสุดมีผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านราย
          ขณะที่ผู้ถือบัตร ได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้าที่หลากหลายขึ้น ทั้งการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก เป็นต้น การซื้ออาหารสด หมู ไก่ ไข่ ผัก ผลไม้ และยังใช้ซื้อข้าวแกง ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ได้ด้วย แล้วผลสำรวจก่อนสิ้นปี ชาวบ้านที่ถือบัตร ต้องการให้บัตรคงอยู่ต่อไป แบบว่า “ห้ามเลิก”
          เรียกว่า ได้ใจคนจนสุดๆ

เบาใจที่สุด
 
นายสนธิรัตน์กำลังตรวจสถานการณ์ราคาสินค้าในห้าง 
 
          ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา น่าจะเรียกได้ว่าเป็นปีแรกๆ ในรอบหลายปีของกระทรวงพาณิชย์ ที่ไม่มีปัญหาราคาสินค้ามาจุกจิกกวนใจ ผิดกับปีก่อนหน้า ที่น้ำมันขยับเมื่อไร ค่าไฟขยับนิด หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นหน่อย พาณิชย์ต้องมีหนังสือหรือประกาศขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาสินค้า ขอความร่วมมือห้างให้ช่วยสอดส่องว่ามีผู้ผลิตรายใดแอบขึ้นราคาหรือไม่
          เหตุผลที่ทำให้ราคาสินค้าไม่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันไม่ผันผวน แม้จะขยับขึ้นบ้างในช่วงปลายปี แต่สุดท้ายก็ปรับลดลง และในปี 2561 ประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคสินค้าราคาถูกที่จำหน่ายผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
          ขณะที่เงินเฟ้อตลอดปี 2561 ปิดท้ายปีเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้น 0.94% แม้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24 ติดต่อกัน แต่ก็เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันเงินเฟ้อ คือ น้ำมัน ส่วนสินค้าอาหารสด สินค้าอุปโภคบริโภค ปรับตัวขึ้นลงไม่มาก และคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 1.11-1.2% สูงสุดในรอบ 4 ปี เพราะ 3 ปีก่อนหน้ามีทั้งติดลบ และขยายตัวนิดหน่อย
          เบาใจแบบไม่ต้องออกแรงเลย

โล่งอกที่สุด
 
บรรยากาศการยื่นซองประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล 
 
          หากถามว่าในรอบปี 2561 มีเรื่องอะไรน่าหนักใจที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น การเคลียร์ข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ตกค้างมาจากรัฐบาลก่อนมากถึง 17.76 ล้านตัน แต่ก็สามารถทำสำเร็จจนได้ โดยสามารถขายได้เงินคืนกระทรวงการคลังจำนวน 1.46 แสนล้านบาท ลดภาระค่าฝากเก็บได้ถึง 9.36 หมื่นล้านบาท ซึ่งคำนวณจากค่าฝากเก็บข้าว 17.76 ล้านตัน ต้องเสียค่าฝากเก็บและค่ารักษาเดือนละ 1,800 ล้านบาท หรือวันละ 60 ล้านบาท
          โดยผลจากการระบายสต๊อกข้าวที่มีอยู่จนหมด ทำให้แรงกดดันต่อราคาข้าวในประเทศหมดไปทันที ข้าวเปลือกราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และตลาดข้าวไทยกลับมาคึกคัก ผู้ซื้อหันมาสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น และไม่มีการถูกกดราคาเหมือนช่วงที่ยังมีสต๊อกคาอยู่
          ถึงขั้นยกภูเขาออกจากอกเลยละ

ราคาดีที่สุด

นายสนธิรัตน์ กำลังชี้แจงกับชาวนาถึงผลงานการผลักดันราคาข้าวเปลือก 
 
          ถ้าถามว่าสินค้าเกษตรตัวไหนที่โดดเด่นสุดในรอบปี 2561 คงหนีไม่ข้าว “ข้าวและมันสำปะหลัง” เพราะทั้ง 2 ตัวนี้ ทำสถิติราคาพุ่งสูงสุดไปตามๆ กัน โดยเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีเลยก็ว่าได้ โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ เคยขยับขึ้นไปแตะที่ราคาตันละ 1.9 หมื่นบาท ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ ราคาก็ปรับขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ขณะที่ราคามันสำปะหลังก็ขึ้นไปแตะที่กิโลกรัมละ 3.15 บาท
          ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น มาจากสต๊อกข้าวรัฐบาลถูกระบายออกจนหมด และมีคำสั่งซื้อข้าวไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนมันสำปะหลัง ได้มีการเร่งหาตลาดรองรับทั้งตลาดเดิมอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และหาตลาดใหม่ เช่น ตุรกี และนิวซีแลนด์ ทำให้มีความต้องการซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
          เกษตรกรผู้ปลูกถึงขั้นยิ้มแฉ่ง  

ฮือฮาที่สุด

การเปิดตัวนำทุเรียนไทยเข้าไปขายในเว็บไซต์ Tmall ในเครืออาลีบาบา 

          ในรอบปี 2561 ข่าวที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดข่าวหนึ่ง คงหนีไม่พ้น การขายทุเรียนไทยผ่านเว็บไซต์ Tmall ในเครืออาลีบาบา ที่สามารถจำหน่ายได้ 8 หมื่นลูกภายในระยะเวลาแค่ 1 นาที และเมื่อสิ้นสุดโครงการ 3 วัน มีคำสั่งซื้อถึง 1.3 แสนลูก หรือ 350 ตัน ราคาประมาณ 70 ล้านบาท จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ทุเรียนฟีเวอร์ และราคาทุเรียนในประเทศก็ปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้เกษตรกรพอใจ แต่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ รู้สึกหนักใจ เพราะราคาแพงไปหน่อย
          ไม่เพียงแค่นั้น ยังได้ผลักดัน “ลำไย” เข้าไปขายใน Tmall ได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถผลักดันขายได้ราวๆ 1 หมื่นตัน ราคาประมาณ 200 ล้านบาท แม้จะไม่ฟีเวอร์เหมือนทุเรียน แต่ก็ช่วยยกระดับราคาในประเทศให้สูงขึ้นได้
          นอกจากนี้ ยังมีสินค้าข้าว ผลไม้อื่นๆ เครื่องสำอาง สินค้าแฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ กล้วยไม้ ที่ได้เข้าไปจำหน่ายในแฟลตฟอร์มของอาลีบาบา และล่าสุดทางอาลีบาบากำลังจะส่งทีมมาคัดสินค้าในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.2562 นี้ เน้นสินค้าในกลุ่มผลไม้
          ต้องตามดูว่าจะเรียกเสียงฮือฮาอะไรได้อีกหรือไม่

โครงการโดนใจที่สุด

บรรยากาศการจัดโครงการ YEN-D Reuion ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกจากทุกซีซั่นได้มาพบปะเจรจาธุรกิจกัน 
 
          ในรอบปี 2561 มีโครงการอะไรของกระทรวงพาณิชย์ที่ผู้ประกอบการชอบ หากทำโพลสำรวจ รับรองว่า “โครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน” หรือเรียกสั้นๆ ว่าโครงการ YEN-D น่าจะติดอันดับต้นๆ ว่าเป็นโครงการที่ผู้ประกอบการชื่นชอบ เพราะเป็นโครงการที่จับต้องได้จริง ช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้จริง  
          ปัจจุบันโครงการนี้ ทำมาแล้ว 4 ปี มีผู้ประกอบการในเครือข่ายกว่า 1,200 คน สร้างโอกาสค้าขายแบบที่มีตัวเลขเป็นทางการกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ที่ไม่เป็นทางการน่าจะมีอีกเป็นจำนวนมาก จากการที่เพื่อนแนะนำเพื่อนให้ค้าขายกัน
          ส่วนในปี 2562 มีแผนที่จะจัด YEN-D Frontier เน้นสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการตามแนวชายแดน ในกรอบ LIMEC (หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย) , สปป.ลาว และเมียนมา รวมถึง YEN-D Plus กับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการต่างตั้งหน้าตั้งตารอที่จะสมัคร
          เรียกว่าโดนใจผู้ประกอบการสุดๆ

ผันผวนที่สุด

2 สินค้าเกษตร ที่มีความผันผวนด้านราคามากที่สุดในรอบปี 
 
          ในรอบปี 2561 นอกจากข่าวดีๆ ของพาณิชย์ มีข่าวอะไรหวือหวาบ้าง ตอบได้แบบไม่คิด ก็คือ ความผันผวนของ “ปาล์มน้ำมันและมะพร้าว” ที่เคยราคาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่กลับมาตกต่ำเอาดื้อๆ จากหลายๆ ปัจจัยรุมเร้า
          เริ่มจากปาล์มน้ำมัน ที่ราคาเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาทเมื่อช่วงปลายปี 2560 แต่เริ่มปรับตัวลดลง เมื่อเข้าสู่ปี 2561 จากปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งแก้ไขปัญหาด้วยการเร่งระบายสต๊อก ด้วยการผลักดันส่งออก แต่ก็ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะสู้ราคาน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียและมาเลเซียไม่ได้ เรื่องก็เลยลากยาวจนทำให้ราคาผลปาล์มดิบตกต่ำกก.ละ 2 บาท ถึงขั้นเผาโลงประท้วงกันเลย แต่สุดท้าย ก็มีทางออกด้วยการผลักดันให้นำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งได้ลงนาม MOU กันไปแล้ว จะเริ่มซื้อไปผลิตต้นปี 2562 เลย รวมทั้งได้เร่งการใช้บี 20 ในรถ ขสมก. ต้นปีเช่นเดียวกัน ราคาปาล์มก็เลยขยับขึ้นมาแตะ 3 บาทแล้ว  
          ส่วนมะพร้าว ราคาเคยอยู่ในระดับผลละ 17 บาท พอมาช่วงต้นปีลดเหลือ 13 บาท และลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 7 บาทช่วงกลางปี ต่อมาเหลือ 3 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ตกต่ำในรอบ 10 ปี ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยมีการระบุสาเหตุว่าเป็นเพราะมะพร้าวนำเข้า ทำให้พาณิชย์ต้องมีมาตรการควบคุมการขนย้ายมะพร้าว ให้นำเข้าได้แค่ 2 ด่าน ที่ท่าเรือกรุงเทพฯ และแหลมฉบัง รวมทั้งได้เข้าตรวจสอบโรงงานที่ขอนำเข้าว่าทำถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้หรือไม่ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการนำเข้า เพื่อป้องกันการลักลอบ จนล่าสุดได้ออกประกาศคุมเข้มการนำเข้าในกรอบ AFTA ถ้าพบนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะใช้ไม้แข็งเล่นงาน ไม่ออกใบอนุญาตนำเข้าเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ ได้ช่วยผลักดันให้ราคามะพร้าวขยับขึ้นมาอยู่ที่ลูกละ 7 บาท ถือเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ
          แต่กว่าจะจบ เรียกว่าผันผวนที่สุดในรอบปีเลยก็ว่าได้

อ่วมที่สุด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา 

          ฮอตที่สุดในรอบปี คงหนีไม่พ้นเรื่องการจดสิทธิบัตรกัญชา ที่ทำเอานายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต้องออกมาชี้แจงอยู่เรื่อยๆ และแม้จะชี้แจงยังไง ก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องออกมาโดยตลอด
          เรื่องนี้ เริ่มต้นจากมีผู้ไปสืบค้นพบว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศโฆษณาคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา ก็เลยมีการตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการรับจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา ซึ่งตามกฎหมายรับจดไม่ได้ โดยพาณิชย์ได้มีการชี้แจงว่าเป็นคำขอที่หลุดออกมาในขั้นการกรองหยาบ คือ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าคำขอมีเอกสารหลักฐานถูกต้อง ก็เลยมาถึงขั้นประกาศโฆษณา ตอนนี้พ้นขั้นตอนประกาศโฆษณาแล้ว อยู่ในขั้นให้ผู้ยื่นคำขอ ยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ยื่น ซึ่งถ้ายื่นมา ก็จะปฏิเสธคำขอ เพราะผิดกฎหมาย ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้
          ถามว่า ทำไมไม่ใช่อำนาจตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่อธิบดีมีอำนาจสั่งยกเลิกคำขอ จริงๆ ก็อยากจะดำเนินการตามนี้ แต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อระบบการจดสิทธิบัตรทั้งหมด หากต่อไป มีผู้ไม่พอใจคำขอจดสิทธิบัตรรายการใด แล้วมาเรียกร้องให้อธิบดีสั่งยกเลิก ก็จะวุ่นวายกันไปหมด ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการใช้ ม.44 สั่งยกเลิก สุดท้ายแล้ว ก็ไม่น่าจะทำได้ เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือกฎหมายที่เป็นหลักสากล
          ล่าสุด รัฐมนตรีพาณิชย์จะนัดคุยเรื่องนี้อีกครั้งช่วงเดือนม.ค.2562 เพื่อดูว่าจะมีทางออกในเรื่องนี้ยังไง ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่ที่รู้ๆ เรื่องนี้ เล่นเอาวุ่นวายกันไปหมด  

ลุ้นที่สุด

 
          ผ่านมาแล้ว 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) สำหรับตัวเลขการส่งออกของไทย ที่ทำได้มูลค่า 232,725 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.29% ถือเป็นตัวเลขที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายทั้งปี 2561 ที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโตที่ 8% ซึ่งต้องมาจับตาดูกันว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนธ.ค.2561 ที่จะแถลงในช่วงปลายเดือนม.ค.2562 จะสามารถทำได้ตามที่ประเมินไว้ และทำให้ยอดรวมทั้งปีเติบโตได้ 8% หรือไม่
          ทั้งนี้ มีการประเมินกันไว้เบื้องต้นว่า หากจะให้ส่งออกทั้งปีโต 8% เดือนธ.ค.2561 จะต้องส่งออกได้มูลค่าไม่น้อยกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าต่ำกว่านี้ ก็ไม่เข้าเป้า ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า มองว่า มีความเป็นไปได้ เพราะตัวเลขรายเดือนในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา สามารถส่งออกได้เกิน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐเกือบทุกเดือน ปริ่มๆ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐด้วยซ้ำ ทำให้มีความหวังว่า เดือนธ.ค.น่าจะทำได้
          เอาไว้มารอลุ้นกัน

ติดตามข่าวสารง่ายที่สุด 
          ปิดท้ายด้วยช่องทางการติดตามข่าวสารของกระทรวงพาณิชย์ ที่จัดทำโดยทีมงาน CNA Online โดยสามารถติดตามได้ผ่านทางมือถือ ผ่านไลน์แอด กดติดตามได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i หรือถ้าเล่นทวิตเตอร์ ติดตามได้ที่ https://twitter.com/CNAOnlineTwit หรือช่องทางเพซบุ๊ก https://www.facebook.com/commercenewsagency
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง