​“อูเล่ โมเดล” โมเดลจีนช่วยคนชนบทขายออนไลน์ “พาณิชย์”นำปรับใช้แก้ยากจนในไทย พร้อมเชื่อมโยงนำสินค้าไปขาย

img

“อูเล่ โมเดล” เป็นต้นแบบการค้าออนไลน์ ที่จีนได้นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาร้านค้ารายย่อย ร้านค้าในชนบท ที่กำลังรอวันตาย จากการเกิดขึ้นและขยายตัวของการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยโมเดลนี้ TOM Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของลีกาชิง มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของฮ่องกง ได้มองเห็นถึงโอกาสในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทของจีน จึงได้ร่วมทุนกับไปรษณีย์จีน หรือ China Post Group ก่อตั้งแพลตฟอร์มค้าออนไลน์ www.ule.com เพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือร้านค้ารายย่อย ร้านค้าในชนบทให้มีโอกาสในการค้าขายออนไลน์
         
ปัจจุบัน “อูเล่ โมเดล” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ปีที่แล้ว มีร้านค้าในชนบทเข้าไปอยู่ในระบบของอูเล่แล้วไม่ต่ำกว่า 3.3 แสนร้าน และอูเล่ ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ทุกหมู่บ้านในจีนที่อยู่ในชนบทประมาณ 7 แสนหมู่บ้าน จะต้องมีร้านโชวห่วยอูเล่อย่างน้อย 1 ร้าน และร้านในเมืองอีก 20-30 ร้านต่อเมือง ซึ่งจะทำให้ร้านอูเล่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในจีน ตั้งแต่ในชนบทไปจนถึงตัวเมือง


ร้านค้าในหมู่บ้านเสี่ยวเปา มณฑลเจ้อเจียง ที่เข้าร่วมโครงการกับอูเล่ (ภาพประกอบ Stefen Chow)
         
แนวทางการดำเนินการของอูเล่ ไปรษณีย์จีนจะเข้าไปช่วยเหลือร้านค้าที่อยู่ในชนบท นำระบบขายหน้าร้าน (POS) ไปติดตั้งให้ ทำให้ร้านค้าสามารถเช็กสินค้าได้ทันทีว่าขายอะไรไปบ้าง สต๊อกคงเหลือเท่าไร และช่วยเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยให้ร้านค้าสามารถขายสินค้าออนไลน์ได้ โดยเชื่อมโยงนำสินค้าที่ขายในร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มของอูเล่ เมื่อมีคนสั่งซื้อ ก็จะมารับสินค้าแล้วไปส่งต่อให้ ในทางกลับกัน หากคนในหมู่บ้าน สั่งซื้อสินค้าจากที่อื่น ก็จะนำมาส่งไว้ที่ร้าน เพื่อให้คนซื้อมารับต่อไป
         
นอกจากนี้ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกับอูเล่ ยังจะถูกใช้เป็นศูนย์กลาง หรือเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าจากชุมชน ประมาณว่า ใครผลิตสินค้าอะไรได้ ก็เอามาฝากขายได้ เมื่อมีคนสั่งซื้อ ผู้ผลิตก็เอามาส่งไว้ที่ร้าน จากนั้น ไปรษณีย์ก็จะมารับไปส่งต่อ ซึ่งทำให้ทุกวันนี้ ร้านค้าที่อยู่ในเครือข่ายของอูเล่ มีสินค้ามากกว่า 3 ล้านชิ้น และแตกต่างกัน เพราะที่มาของสินค้ามาจากแต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชน


ไปรษณีย์จีน กำลังขนสินค้า (ภาพประกอบ Stefen Chow)
         
ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการดำเนินการ ซึ่งมีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยไปรษณีย์ได้มีการเปิดเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com และแอปพลิเคชัน thailandpostmart.com และวันนี้สามารถซื้อขายสินค้าได้แล้ว
         
โดยเป้าหมายในการดำเนินโครงการ กระทรวงดีอีได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560 ทำการคัดเลือกและพัฒนาร้านค้าชุมชนต้นแบบเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ POS จำนวนไม่น้อยกว่า 200 หมู่บ้านทั่วประเทศ ระยะที่ 2 ปี 2561 ติดตั้งอุปกรณ์การบริหารงาน POS จำนวน 10,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ และระยะที่ 3 ปี 2562-2564 พัฒนาโครงการสู่ความยั่งยืน โดยจะขยายผลการติดตั้งระบบงานให้ครบ 29,800 หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ สามารถหาซื้ออุปกรณ์ POS ได้กับไปรษณีย์ไทย มีอุปกรณ์ชุดใหญ่ อุปกรณ์ขนาดย่อม และอุปกรณ์แบบโมบายล์
         
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันให้ร้านค้ารายย่อย โชวห่วย ร้านค้าชุมชน รวมถึงร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่กระทรวงฯ สนับสนุน ให้ใช้แพลตฟอร์มของไปรษณีย์ไทยในการเพิ่มโอกาสในการขายสินค้า ทั้งสินค้าของตัวเอง หรือสินค้าของชุมชน เพราะไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมาก เมื่อมีคนสั่งซื้อ ก็สั่งต่อไปยังผู้ผลิตให้นำสินค้ามาส่ง แล้วไปรษณีย์จะมารับไปส่งต่อให้ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับร้านค้าที่จะมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายขึ้น และยังช่วยให้ผู้ผลิตในชุมชนมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้น


ตัวอย่างสินค้าไทย ที่มีขายในเว็บไซต์ www.ule.com 
         
ล่าสุดช่วงการเดินทางไปฮ่องกง เมื่อวันที่ 27-28 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพบปะหารือกับผู้บริหารของบริษัท TOM Group ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ule ได้ตกลงที่จะส่งทีมมาให้คำแนะนำกับไทยในช่วงเดือนม.ค.2562 เพื่อให้สามารถนำรูปแบบ วิธีการของอูเล่ โมเดล ไปใช้ในการผลักดันให้ร้านค้ารายย่อยของไทยสามารถขายสินค้าออนไลน์ได้ และยังจะช่วยนำสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในเว็บไซต์ www.ule.com ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายแล้ว เช่น ผลไม้ ขนมขบเคี้ยว ข้าวสาร เครื่องปรุงรส หมอนและที่นอนยางพารา เป็นต้น
       
“ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพ และให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดีอี ไปรษณีย์ไทย มาร่วมหารือ เพื่อทำการเชื่อมโยงสินค้าเข้าไปจำหน่ายในเว็บไซต์ของอูเล่ โดยต้องการที่จะผลักดันให้สินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยังจะขอเรียนรู้ประสบการณ์และวิธีการทำงานของเขาด้วย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดีอี และไปรษณีย์ไทย นำไปปรับใช้ เพื่อช่วยเหลือร้านค้าในชนบทของไทยให้สามารถค้าขายออนไลน์ได้เพิ่มขึ้น”นายสนธิรัตน์กล่าว

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง