"พาณิชย์"ยันข้าวถุงหอมมะลิไม่ได้ขึ้นราคา แค่ผู้ผลิตเลิกโปรโมชั่น เหตุปีนี้ผลผลิตน้อย เตรียมถก ธ.ก.ส.ระบายข้าวเปลือกในมือเข้าตลาด

img

"พาณิชย์" ยันราคาข้าวหอมมะลิบรรจุถุงไม่ได้ปรับขึ้นราคา แต่ที่ดูเหมือนราคาเพิ่มสูงขึ้น มาจากการที่ผู้ผลิตได้ยกเลิกการจัดโปรโมชั่น ทำให้ราคากลับมาอยู่ที่เดิม เหตุปริมาณข้าวเปลือกตึงตัว จากการที่ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิปีนี้ลดลง จนทำให้เกิดการแย่งกันซื้อจนราคาพุ่ง เตรียมหารือ ธ.ก.ส. นำข้าวเปลือกหอมมะลิที่รับจำนำไว้ในยุ้งฉาง 9 แสนตันกระจายออกสู่ตลาด

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ผลิตข้าวถุงปรับขึ้นราคาจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุง ว่า จากการสอบถามผู้ผลิตข้าวถุงแบรนด์ดังกล่าว พบว่าไม่ใช่การปรับขึ้นราคาจำหน่าย แต่เป็นการยกเลิกราคาส่งเสริมการขาย หรือราคาโปรโมชั่น ซึ่งราคาข้าวถุงหอมมะลิในตลาดปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ราคาถุงละ (5 กก.) 220-300 บาทต่อถุง ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวที่จำหน่าย โดยราคา 300 บาทต่อถุง อาจเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ที่ราคาจำหน่ายจะสูงกว่าข้าวหอมมะลิปกติ ส่วนที่ข้าวถุงหอมมะลิที่จำหน่ายต่ำกว่า 200 บาทต่อถุง เป็นราคาจัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์

"สถานการณ์ข้าวหอมมะลิในปีนี้ ยอมรับว่าราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นมากถึงตันละ 1.5-17 หมื่นบาท เนื่องจากมีปริมาณข้าวหอมมะลิเข้าสู่ตลาดน้อย จากเดิมคาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ 9-10 ล้านตัน แต่ลดลงเหลือแค่ 7 ล้านตัน ทำให้เกิดภาวะตึงตัวและแย่งกันซื้อในตลาด ผลักดันให้ราคาสูงขึ้น และเนื่องด้วยมีการแข่งขันในตลาดข้าวถุง ทำให้ผู้ผลิตไม่ได้ทำการปรับขึ้นราคาข้าวถุง เพียงแต่มีการยกเลิกโปรโมชั่นเท่านั้น"นายบุณยฤทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตข้าวถุงจะมีการปรับขึ้นราคาข้าวถุงจริง การปรับขึ้นราคาจะต้องสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต เป็นราคาที่เหมาะสม โดยจะมาอ้างถึงค่าแรงงานทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวถุงปรับสูงขึ้นไม่ได้ เพราะผลศึกษาพบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าเพียงเล็กน้อย ซึ่งกรมฯ จะติดตามสถานการณ์ราคาข้าวถุงในตลาดอย่างใกล้ชิดต่อไป

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ กรมฯ จะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการพิจารณาร่วมกันที่จะนำข้าวเปลือกหอมมะลิจากโครงการสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกร (จำนำยุ้งฉาง) ที่มีปริมาณข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการประมาณ 9 แสนตัน บริการจัดการออกสู่ตลาด ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการทยอยออกสู่ตลาด เพื่อรักษาระดับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิให้มีเสถียรภาพ โดยจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกษตรกรไถ่ถอนข้าวออกจากโครงการสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะปัจจุบันราคาข้าวหอมมะลิในตลาดสูงขึ้นกว่าราคาที่เกษตรกรได้รับในโครงการสินเชื่อ และอีกส่วนที่เกษตรกรไม่ไถ่ถอน ก็จะนำมาบริหารจัดการได้

สำหรับสถานการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2561/62 คาดว่าจะมีปริมาณลดน้อยลงกว่าผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูกาล 2560/61 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยมีการประเมินว่าผลผลิตข้าวเปลือกรวมทั้งประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 30ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากผลผลิตาปี 2560/61 ประมาณ 1-2 ล้านตันข้าวเปลือก

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง