
“พิชัย”เผยผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก รับรองถ้อยแถลงร่วม “เสริมสร้างวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการเผชิญและแก้ไขปัญหาการค้าในยุคใหม่ ไทยใช้โอกาสนี้ หนุนเกาหลีขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ผลักดันปฏิรูป WTO ถกคู่ค้าหลายชาติ และ Google ร่วมมือเศรษฐกิจ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT) ประจำปี 2568 ณ จังหวัดเชจู สาธารณรัฐเกาหลี ว่า ได้แสดงวิสัยทัศน์และแนวทางของไทย ในการรับมือความท้าทายทางการค้าโลก พร้อมใช้โอกาสนี้หารือภาครัฐและเอกชนของเอเปกเพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจการค้า ท่ามกลางบรรยากาศที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความผันผวนทางเศรษฐกิจ เพราะเวทีนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เขตเศรษฐกิจเอเปกจะได้มานั่งร่วมโต๊ะ แลกเปลี่ยนมุมมอง และหารือแนวทางขับเคลื่อนการค้าโลกอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
สำหรับการประชุมปีนี้ เน้นหารือ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การใช้นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า 2.การส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การขับเคลื่อนความมั่งคั่งผ่านการค้าที่มีความยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิก และกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการค้าโลกอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ภายใต้หัวข้อหลัก “Building a Sustainable Tomorrow” หรือ “เสริมสร้างวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการเผชิญและแก้ไขปัญหาการค้าในยุคใหม่
ทั้งนี้ ผลการประชุมจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปก ตลอดจนสนับสนุนการสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถขยายตลาดในระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานความร่วมมือที่รับมือกับความท้าทายทางการค้าในระยะยาว โดยตนและรัฐมนตรีการค้าเอเปกได้ร่วมรับรองแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปก เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในประเด็นสำคัญของการค้าโลกยุคใหม่
นายพิชัยกล่าวว่า ในระหว่างการประชุม ตนได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการค้า โดยเน้นย้ำความร่วมมือในกรอบเอเปก ด้านการเชื่อมโยงดิจิทัล มาตรฐานข้อมูล และการวิจัย AI ควบคู่ไปกับการลดช่องว่างทางดิจิทัล การคุ้มครองข้อมูล และการเตรียมแรงงานให้พร้อมรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังได้ย้ำความสำคัญของการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้ระบบการค้าพหุภาคียังตอบโจทย์ต่อความท้าทายโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยเสนอให้เอเปกเป็นเวทีหารือเชิงสร้างสรรค์ เพื่อปูทางให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 14 ในปี 2569 มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม รวมทั้งได้หารือกับสมาชิกอาเซียน เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าในปัจจุบัน และยังได้หารือทวิภาคีกับญี่ปุ่น ผู้แทนจากบริษัท Google เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทย และได้พบปะและพูดคุยเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับรัฐมนตรีการค้าจากหลากหลายเขตเศรษฐกิจด้วย อาทิ สหรัฐฯ สาธารณรัฐเกาหลี และสิงคโปร์
“การประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง แต่เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง ร่วมกันออกแบบอนาคตทางการค้า สร้างสมดุลและความเข้าใจร่วมกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก จึงเป็นการเปิดประตูสู่แนวทางใหม่ของการค้าระหว่างประเทศที่ยั่งยืน”นายพิชัยกล่าว
สำหรับเอเปก เป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม ในปี 2567 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปก มีมูลค่าประมาณ 15.10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.92% เป็นการนำเข้าจากกลุ่มเอเปก 7.75 ล้านล้านบาท และการส่งออกจากไทยไปกลุ่มเอเปก 7.35 ล้านล้านบาท
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง