​สนค.เปิด 10 เทรนด์เครื่องดื่ม ปี 68 แนะผู้ส่งออกผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ เพิ่มโอกาสขาย

img

สนค.ติดตามธุรกิจเครื่องดื่ม ปี 68 พบยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออก คุมเข้มคุณภาพวัตถุดิบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้ข้อมูลคุณประโยชน์ของสินค้า สร้างเรื่องราว และต้องผลิตสินค้าที่ตรงตามเทรนด์การบริโภค เผยล่าสุดมี 10 เทรนด์ ที่ต้องจับตา เน้นความสดใหม่ ดูแลสุขภาพ มีเอกลักษณ์ ฟื้นฟูลำไส้ ผลิตภัณฑ์จากพืช ความยั่งยืน เครื่องดื่มเพื่อความงาม สะท้อนวัฒนธรรม ดูแลสุขภาพจิต และใช้ AI มีส่วนร่วม
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามธุรกิจเครื่องดื่ม ปี 2568 พบว่า ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และไทยมีโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ โดยปี 2566 ไทยส่งออกเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ เป็นอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งการจะคงขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งออก ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัตถุดิบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างความแตกต่าง การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบย้อนกลับสินค้า การให้ข้อมูลคุณประโยชน์ของสินค้าที่มีต่อสุขภาพ และการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้า (Story Telling) รวมถึงต้องผลิตสินค้าให้ต้องตรงตามเทรนด์การบริโภค ซึ่งมีผลสำรวจจาก Innova Market Insights หนึ่งในผู้นำด้านการวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก พบว่า ในปี 2568 มี 10 เทรนด์การตลาดที่น่าสนใจ
         
โดยเทรนด์การตลาดที่ว่า ได้แก่ 1.ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความสดใหม่ คุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์อย่างมาก (Ingredients and Beyond) ผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่บริโภคมีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อสุขภาพ
         
2.ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและโภชนาการเฉพาะบุคคล (Health–Precision Wellness) ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มเฉพาะบุคคล อาทิ การควบคุมและลดน้ำหนัก หรือการได้รับสารอาหารตามโภชนาการเฉพาะตัวในแต่ละช่วงอายุวัย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างถึงการจัดการปัญหาการควบคุมน้ำหนักและโภชนาการตามช่วงอายุวัยและไลฟ์สไตล์ มีการเติบโต 10% ต่อปี
         
3.ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Wildly Inventive) ผู้บริโภค 43% มักมองหารสชาติใหม่ ๆ อยู่เสมอ และ 37% ติดตามเทรนด์เครื่องดื่มผ่านโซเชียลมีเดีย การเลือกใช้รสชาติของผลไม้ตามฤดูกาล การผสมผสานระหว่างเครื่องดื่มและของหวานเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง จากข้อมูลวิจัยพบว่า สินค้าดังกล่าวเติบโตเฉลี่ยปีละ 16% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะสินค้ามีเอกลักษณ์ และสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับผู้บริโภค
         


4.เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมช่วยฟื้นฟูลำไส้ (Gut Health–Flourish from Within) เช่น ไฟเบอร์ โปรไบโอติกส์ และวิตามิน เพื่อสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้และระบบย่อยอาหารเป็นเทรนด์เครื่องดื่มที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เติบโต 8% ต่อปี
         
5.ตลาดผลิตภัณฑ์จากพืช (Plant-Based–Rethinking Plants) กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาด Plant-Based มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 23% และผู้บริโภคยังมุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย
         
6.การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน (Sustainability–Climate adaptation) การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศส่งผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผู้บริโภค 50% ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว เช่น มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทดแทนสินค้าเดิม หรือการค้นหาวัตถุดิบทางเลือกที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน
         
7.เครื่องดื่มเพื่อความงาม (Beauty Food–Taste the Glow) 1 ใน 5 ของผู้บริโภคทั่วโลกเลือกซื้อเครื่องดื่มที่ช่วยเรื่องรูปลักษณ์ความงาม เช่น คอลลาเจน และวิตามิน โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคน ที่ต้องการฟื้นฟูผิวและชะลอวัย ให้ความสำคัญกับผิวหน้า ผม และผิวกาย เป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการเติบโตถึง 11% ต่อปี
         
8.วัฒนธรรมทางอาหารและเครื่องดื่ม (Food Culture-Tradition Reinvented) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงอาหารและเครื่องดื่มกับวัฒนธรรม ความหลากหลายของรสชาติและวัตถุดิบท้องถิ่น รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนความแตกต่างทางวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นการสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกัน อาทิ กลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่ต้องการรสชาติที่คุ้นเคย และกลุ่มคนรุ่นใหม่/นักท่องเที่ยวที่ต้องการทดลองประสบการณ์ใหม่ในแต่ละท้องถิ่น โดยการทดลองชิมอาหารรสชาติใหม่ที่แตกต่างออกไป
         


9.เครื่องดื่มสำหรับสุขภาพจิต (Mood Food-Mindful Choices) ตลาดกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภค 36% มองหาเครื่องดื่มที่ช่วยควบคุมอารมณ์และการนอนหลับ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวิตามิน B6 B9 และ B12 เป็นส่วนผสมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากวิตามินเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของสมองและระบบประสาท
         
10.การเข้ามามีบทบาทของ AI (AI–Bytes to Bites) การนำ AI มาใช้ในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต ตั้งแต่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การเลือกวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการควบคุมคุณภาพ บริษัทต่าง ๆ ใช้ AI เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ   
         
“เทรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มปีนี้ ผู้บริโภคมองหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและบริโภคได้ทุกโอกาส ที่สำคัญผู้บริโภคยุคใหม่เปรียบเทียบคุณภาพ ที่มาที่ไปของวัตถุดิบ ความซื่อสัตย์และความโปร่งใสของบริษัทแลกกับราคาที่จ่าย ผู้บริโภคยอมจ่ายสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าปริมาณและราคาเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งการแข่งขันในตลาดนี้มีความเข้มข้น ทั้งจากประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า หรือประเทศที่สร้างแบรนด์มาอย่างยาวนาน ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาแนวโน้มและทิศทางความต้องการของผู้บริโภค และนำมาปรับใช้ในการผลิต เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการและส่งออกได้มากขึ้นต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง