​ส่งออกข้าวไทยปี 60 ทุบสถิติสูงสุด! “พาณิชย์”เผยทำได้ 11.25 ล้านตัน เพิ่ม 14.77% ส่วนราคาหอมมะลิพุ่งแรงสุดรอบ 5 ปี

img

“พาณิชย์”เผยยอดส่งออกข้าวปี 60 ทำได้ปริมาณ 11.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.77% ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แถมราคาข้าวหอมมะลิพุ่งทะลุ 1 พันเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 5 ปี ดันราคาข้าวเปลือกตันละ 1.4-1.7 หมื่นบาท “ชุติมา”เตรียมลุยเปิดตลาดข้าวต่อ เน้นขายข้าวจีทูจี และผลักดันส่งออกข้าวนวัตกรรม พร้อมนัดเวิร์กชอป 14 ม.ค. เชิญคนวงการข้าวทั้งหมดระดมสมอง ส่วนข้าวค้างสต๊อก 2.07 ล้านตัน เตรียมชง นบข. อนุมัติระบายเร็วๆ นี้
         
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วง 12 เดือน ของปี 2560 (ม.ค.-ธ.ค.) โดยสถิติล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 ธ.ค.2560 มีปริมาณการส่งออก 11.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.77% มูลค่า 4,970 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1.68 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.83% ซึ่งปริมาณส่งออกดังกล่าว แม้จะยังไม่เต็มทั้งปี แต่ก็ถือเป็นสถิติการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ไทยมีการส่งออกข้าวมา
         
โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพิ่มแค่ปริมาณ แต่ราคาก็ปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวหอมมะลิราคาล่าสุดตันละ 1,040 เหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 5 ปี ข้าวข้าว 5% ตันละ 403 เหรียญสหรัฐ เป็นราคาที่ทรงตัว แต่เป็นราคาที่แข่งขันได้ เมื่อเทียบกับข้าวของคู่แข่ง เนื่องจากราคาห่างกันไม่มาก ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 1.4-1.7 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยตันละ 7,600-7,800 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเฉลี่ยตันละ 9,200-11,000 บาท
         
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวหอมมะลิที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 5 ปี เพราะตลาดต่างประเทศมีความต้องการ และข้าวหอมมะลิในสต๊อกรัฐบาลไม่มีเหลือ ขณะที่ผลผลิตปรับตัวลดลงเหลือเพียง 7 ล้านตันข้าวเปลือกจากที่ประเมินไว้ที่ 9 ล้านตันข้าวเปลือก ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกเข้าไปแย่งกันซื้อข้าวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาข้าวขาวถือว่าทรงตัว เพราะอินเดียได้เร่งขายข้าวออกออกมามาก และขายลดราคา ทำให้ราคาข้าวขาวไม่ค่อยหวือหวาเหมือนข้าวหอมมะลิ
         
อย่างไรก็ตาม มองว่า การส่งออกข้าวหอมมะลิในระยะต่อไปอาจจะชะลอตัวลงบ้าง เพราะราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับข้าวหอมของคู่แข่ง โดยเวียดนามขายตันละ 650 เหรียญสหรัฐ และกัมพูชาตันละ 800 เหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวของคู่แข่งทดแทน แต่ก็ยังมั่นใจว่าข้าวไทยจะขายได้ เพราะคุณภาพดีกว่า
         
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แผนการขยายตลาดข้าวปี 2561 จะให้ความสำคัญกับการขยายตลาดข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยจะเร่งรัดให้จีนรับมอบข้าวภายใต้สัญญาปัจจุบันอีก 6 แสนตันให้ครบโดยเร็ว และผลักดันให้ซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านตันที่ 2 เพราะตอนนี้รถไฟไทย-จีนก็เริ่มต้นแล้ว จีนก็น่าจะที่จะซื้อข้าวไทยเพิ่ม ส่วนประเทศอื่นๆ จะเน้นขายให้กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา บังคลาเทศ อิรัก อิหร่าน และไนจีเรีย เป็นต้น และยังมีแผนขยายตลาดข้าว โดยเน้นข้าวนวัตกรรมให้เพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวได้

นอกจากนี้ วันที่ 14 ม.ค.2560 กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวทั้งหมด ตั้งแต่เกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออก ผู้ผลิตสินค้านวัตกรรมข้าว มาหารือร่วมกัน และจัดทำเวิร์กชอปร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต และการทำตลาด

นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ขณะนี้เหลือแต่ข้าวกลุ่ม 2 ซึ่งเป็นข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน และกลุ่ม 3 ข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ รวม 2.07 ล้านตัน ส่วนข้าวคนบริโภคไม่มีเหลือแล้ว โดยกรมฯ กำลังพิจารณาแนวทางการระบาย และจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาในช่วงเดือนม.ค.2561 เพื่ออนุมัติการระบาย คาดว่าจะระบายได้ในช่วงเดือนก.พ.2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีข้าวในตลาดแล้ว และอยากให้จบไม่เกินช่วงกลางปี 2561 
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง