อาเซียนถกคู่ค้ากรอบ +3 และ +8 จับมือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19

img

อาเซียนเดินหน้าสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าในกรอบอาเซียน +3 และอาเซียน +8 เร่งอำนวยความสะดวกทางการค้า การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล การใช้ประโยชน์จาก RCEP และการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ทั้งสาธารณสุข อาหาร พลังงาน และเงินเฟ้อ
         
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5–6 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ครั้งที่ 39 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และรัสเซีย) หรือ East Asia Summit (EAS) ครั้งที่ 11 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเดินหน้าสร้างความร่วมมือและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจบวกสามและ EAS ในเดือนก.ย.2565
         
สำหรับผลการประชุมอาเซียนบวกสาม ได้รับทราบข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกหรือ EABC เรื่องแนวโน้มและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 และพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนบวกสามให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ความตกลงอาร์เซ็ป (RCEP) อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้หารือการจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี 2566-2567 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเฉพาะ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ รวมถึงความตกลง RCEP การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล MSMEs และพลังงานและเศรษฐกิจสีเขียว โดยตั้งเป้าที่จะรับรองแผนงานดังกล่าวในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจบวกสาม ในเดือน ก.ย.นี้
         


น.ส.โชติมากล่าวว่า ผลการประชุมอาเซียนบวกแปด ได้หารือแนวทางการพัฒนาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเห็นว่าประเทศสมาชิก EAS ต้องปรับห่วงโซ่อุปทานให้เป็นระบบดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจ Start-ups และอำนวยความสะดวกทางการค้าดิจิทัล เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของห่วงโซ่อุปทานโลกหรือเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ
         
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตลอดจนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก และให้ความสำคัญในการเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจและลดช่องว่างระดับการพัฒนาในภูมิภาค ผ่านความร่วมมือหุ้นส่วนแบบยุทธศาสตร์รอบด้าน การยกระดับความตกลงการค้าเสรี และการส่งเสริมการค้าการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านอาหาร ด้านพลังงาน และภาวะวิกฤติเงินเฟ้อ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
         
ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนบวกแปด มีมูลค่า 385,127.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% โดยไทยเกินดุลการค้า 10,287.50 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในครึ่งปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศบวกแปด มีมูลค่า 147,609 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 70,781 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้ามูลค่า 76,828 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้สดแช่เย็น และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกล

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง