​“พาณิชย์”ชี้เป้าใช้ประโยชน์ “ถิ่นกำเนิดสินค้า” ใน RCEP แบบเจาะลึก พร้อมตัวอย่าง

img

“พาณิชย์”ชี้เป้าใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ในเรื่อง “กฎถิ่นกำเนิดสินค้า” แบบเจาะลึก พร้อมยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น เผยผลไม้สามารถใช้วัตถุดิบจากสมาชิก 15 ประเทศมาผลิตและส่งออกได้ มัน ยาง ผลไม้ไทย จะเป็นที่ต้องการนำไปแปรรูปต่อ ส่วนอาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง รองเท้า เหล็ก ปลาทูน่ากระป๋อง ที่นำวัตถุดิบจากนอกภูมิภาค ก็สามารถผ่านเกณฑ์ได้ง่ายขึ้น
         
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชำแหละผลประโยชน์ของไทยที่จะได้รับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ในแง่ของการใช้ประโยชน์ วิธีการใช้ประโยชน์ และตัวอย่างการใช้ประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ศึกษา และใช้เป็นแนวทางในการขยายการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP ได้เพิ่มขึ้น
         
ทั้งนี้ ในด้านสินค้า RCEP จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย เพราะสมาชิก RCEP ได้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
         
ส่วนกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ RCEP ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ซึ่งจากการศึกษาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ไทยสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ โดยนำมาผลิตและสามารถส่งออกไปตลาด RCEP รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในแต่ละสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ



ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตน้ำผลไม้จากไทย สามารถซื้อวัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิดจากสมาชิก RCEP เข้ามาผลิตและสามารถจำหน่ายในตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิ์การลดภาษีนำเข้าเหมือนการใช้วัตถุดิบในประเทศ และวัตถุดิบหลายชนิดของไทย จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลังนำไปผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ยางพาราผลิตด้ายยางวัลแคไนซ์ และผลไม้เป็นวัตถุดิบนำไปแปรรูป
         
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP ยังเป็น FTA ฉบับแรกของอาเซียน ที่มีการจัดทำกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules หรือ PSRs) กับทุกรายการสินค้า เพื่อสะท้อนกระบวนการผลิตที่แท้จริง และสามารถได้รับสิทธิ์การยกเว้นภาษีศุลกากร โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าภายใต้ RCEP เช่น อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง รองเท้า และเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก รวมถึงปลาทูน่ากระป๋อง ที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากแหล่งนอกภูมิภาค ก็จะสามารถผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้รับสิทธิ์การลดภาษีนำเข้าได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับความตกลง FTA ก่อนหน้า ทั้งไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จำกัดวัตถุดิบให้มาจากประเทศภาคีด้วยกันเท่านั้น
         
“ขอให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร หรือผู้สนใจทำการค้าในตลาด RCEP เร่งใช้ประโยชน์จากความตกลง ทำความเข้าใจกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศสมาชิก และศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าในตลาด RCEP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายสินิตย์กล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง