​“พาณิชย์”เผยนำ “ไม้ยืนต้น” ค้ำประกันขอกู้เงินแล้ว 125,911 ต้น วงเงินกว่า 134 ล้าน

img

“พาณิชย์”เผยมีการนำ “ไม้ยืนต้น” มาใช้เป็นหลักประกันขอกู้เงินแล้ว 125,911 ต้น จำนวนเงินกว่า 134 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นไม้ประเภทยาง ยางนา ยางพารา สัก มะขาม มะกอกป่า สะเดา ตะโก มี ธ.ก.ส. กรุงไทย เป็นผู้รับหลักประกัน รวมถึงพิโกไฟแนนซ์ และพิโกพลัส “จุรินทร์”สั่งลุยต่อช่วยเกษตรกร ประชาชน ผู้ประกอบการ ใช้ไม้ยืนต้นค้ำ เพิ่มสภาพคล่องช่วงวิกฤตโควิด-19  
         
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ตามพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค.2564 กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้ว จำนวน 125,911 ต้น จำนวนเงินที่เป็นหลักประกัน 134,829,112 บาท โดยส่วนใหญ่ใช้ไม้ยืนต้นประเภท ยาง ยางนา ยางพารา สัก มะขาม มะกอกป่า สะเดา ตะโก เป็นต้น มาเป็นหลักประกัน

ส่วนธนาคารที่รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน นอกจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทยแล้ว ยังมีผู้รับหลักประกันอื่นใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน จำนวน 5 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์) วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และพิโกพลัส (สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์) วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย
         
“นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด และให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคอยให้ข้อมูลกับเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นโอกาสในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน มีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน 32,133 ต้น จำนวนเงิน 4,559,112 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าได้ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการ โดยจะเร่งบูรณาการร่วมกันกับสถาบันการเงินเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้ใช้กฎหมายและโครงการนี้เป็นโอกาสต่อไป”นางมัลลิกากล่าว
         


ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ซึ่งมีเจตนารมณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน โดยกำหนดให้สามารถนำทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สิน ทำให้ผู้ประกอบการยังคงใช้ทรัพย์สินนั้นได้ต่อไป เป็นการลดข้อจำกัดในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้ ตามกฎหมาย คือ 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 3.สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ 4.อสังหาริมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง 5.ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และ 6.ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ไม้ยืนต้น)
         
จากนั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันได้ โดยประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561 ซึ่งไม้ยืนต้นทุกชนิดใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้ ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาจะตกลงกันว่าจะใช้ไม้ยืนต้นประเภทใดหรือชนิดใดเป็นหลักประกัน โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีหน้าที่เป็นสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ รับจดทะเบียนสัญญาหลักประกัน แก้ไขการจดทะเบียน และยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ตามที่สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้รับหลักประกันนั้นเป็นผู้ให้วงเงินสินเชื่อ และทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
         
ดังนั้น กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จึงเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น สามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง