​ไทย-ยูเคเตรียมตั้งคณะกรรมการร่วมขับเคลื่อนการค้า ลงทุนหลังเบร็กซิต ปูทางทำเอฟทีเอ

img

“จุรินทร์”เตรียมลงนาม MoU กับรัฐมนตรีการค้ายูเค วันที่ 29 มี.ค.นี้ ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า เพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน หลังยูเคออกจากอียู เผยยังเป็นการปูทางสู่การทำเอฟทีไทยไทย-ยูเคในอนาคตด้วย
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 29 มี.ค.2564 ตนมีกำหนดที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ผ่านทางออนไลน์ เพื่อใช้เป็นกลไกความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ ภายหลังจากที่ยูเคได้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิต)
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ยูเคมีกำหนดออกจากการเป็นสมาชิกของอียูโดยสมบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.2564 กรมฯ ได้มีการหารือกับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของยูเคเป็นระยะ เพื่อร่วมกันทบทวนนโยบายการค้าของ 2 ประเทศ และหาทางกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน จึงได้ตกลงที่จะทำ MoU เพื่อใช้เป็นกลไกและเวทีที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่สองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน เช่น เกษตร อาหาร การเงิน และสุขภาพ เป็นต้น
         


“นายจุรินทร์ จะลงนามใน MoU กับนางเอลิซาเบธ ทรัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศยูเค ในวันที่ 29 มี.ค.2564 ซึ่งผลจากการลงนาม จะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยูเค เพิ่มโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนหลังจากเบร็กซิต ทำให้ไทยและยูเค มีช่องทางการพูดคุย หารือกัน และยังเป็นการปูทางไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ยูเค ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”นางอรมนกล่าว
         
นางอรมนกล่าวว่า สำหรับการทำเอฟทีเอไทย-ยูเค ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำเอฟทีเอใกล้เสร็จแล้ว คาดว่าจะเผยแพร่ให้กับทุกภาคส่วนที่สนใจได้ทำการศึกษาได้ในเร็วๆ นี้ และยังได้เดินหน้าเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอกับยูเคต่อไป ส่วนจะมีการเจรจาได้เมื่อใด ต้องรอความพร้อมของยูเคด้วย 
         
ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนจะจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจในเรื่องการประกอบธุรกิจและกฎระเบียบการทำการค้ากับยูเคภายหลังเบร็กซิตผ่านทางออนไลน์ เรื่อง “Brexit the Series : โอกาสไทยกับสหราชอาณาจักรนำเทรนด์สุขภาพเจาะตลาดโลก” ในช่วงบ่ายวันที่ 30 มี.ค.2564 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหาร นวัตกรรม และสุขภาพของไทย เช่น ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บริษัท มอร์ ฟูดส์ อินโนเทค จำกัด และแบรนด์ HydroZitla มาร่วมเสวนาถึงโอกาสและความท้าทายในการร่วมมือกันระหว่างไทย-ยูเคในอุตสาหกรรมดังกล่าว
         
ในปี 2563 ไทยกับยูเคมีมูลค่าการค้ารวม 4,875 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเค 3,087 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวรจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกล และไทยนำเข้าจากยูเค 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง