​“พาณิชย์”เผยวัดเจดีย์ยื่นแจ้งลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่” รวม 11 ผลงาน ยันได้รับคุ้มครองตามกฎหมาย

img

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเผยวัดเจดีย์ ยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่” ตั้งแต่ ปี 51 รวม 10 รายการ มีทั้งผ้ายันต์ รูปหล่อบูชา เหรียญดังปี 26 และแจ้งเพิ่มต้นปี 63 อีก 1 รายการ ยันลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันทีที่สร้างผลงาน มีอายุคุ้มครอง 50 ปี ใครจะละเมิดไม่ได้ ส่วนเหรียญถ้าทำในรูปแบบอื่น สามารถทำได้ แต่คนจะเชื่อถือหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
         
น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจสอบการยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของวัดเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช พบว่า มีการยื่นแจ้งผลงานลิขสิทธิ์เกี่ยวกับ “ไอ้ไข่” ตั้งแต่ปี 2551 รวม 10 รายการ ได้แก่ ผ้ายันต์ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ แบบที่ 1 ถึงแบบที่ 4 รูปหล่อบูชา ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ 1 และ 2 รูปหล่อลอยองค์ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ปี 2546 เหรียญอาร์ม พระครูเจติยาภิรักษ์และไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ปี 2546 เหรียญวงรี ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ปี 2526 แบบที่ 1 และเหรียญวงรี ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ปี 2546 แบบที่ 2 และแจ้งเพิ่มต้นปี 2563 อีก 1 รายการ คือ งานนิพนธ์ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ซึ่งผลงานลิขสิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ทันที มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่เกิดผลงานนั้นๆ ขึ้นมา หากใครจะนำผลงานไปใช้ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ถึงจะดำเนินการได้
         


“ตัวอย่างเช่น เหรียญไอ้ไข่ หากทำในปี 2526 ก็จะมีลิขสิทธิ์ตั้งแต่ทำขึ้นมา แม้จะเพิ่งมาจดแจ้งในภายหลัง โดยมีอายุคุ้มครองถึงปี 2576 ใครหรือวัดไหนจะเอารูปแบบของเหรียญแบบเดียวกันนั้น ที่เป็นวงรี และมีรูปไอ้ไข่ยืน ไปทำเลียนแบบไม่ได้ ถ้าทำต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ถ้าจะทำเป็นเหรียญ โดยใช้ไอ้ไข่ นั่ง หรือนั่งชันเข่า หรือรูปแบบอื่นๆ สามารถทำได้ แต่คนจะเชื่อหรือนิยมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะไอ้ไข่ ใครจะจินตนาการเป็นยังไงก็ได้ แต่จะไปห้ามไม่ให้ใช้ชื่อไอ้ไข่ไม่ได้ เพราะคำว่าไอ้ไข่ ไม่ได้รับการคุ้มครอง ใครก็สามารถใช้ได้”
         
ส่วนประเด็นเรื่องรูปปั้น รูปหล่อ หรือแกะ ก็ต้องตรวจสอบว่า ทำขึ้นมาเมื่อใด เพราะลิขสิทธิ์เกิดขึ้นเมื่อทำขึ้นมาในทันที และจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย 50 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ต่อไป




ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง