“พาณิชย์-เกษตร”จับมือดัน“อาหารไทย อาหารโลก” เตรียมลุยเพิ่มมูลค่า-ทำตลาดเชิงรุก

img

“พาณิชย์”ผนึกกำลัง “เกษตร” ดันอาหารไทยเป็นอาหารโลก หลังล่าสุดอันดับโลกอยู่ลำดับที่ 11 มั่นใจขยับเพิ่มขึ้นได้อีก เหตุแม้เจอวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว สงครามการค้า บาทแข็ง และล่าสุดโควิด-19 แต่ไทยยังส่งออกอาหารได้เพิ่มขึ้น เตรียมลุยผลักดันต่อ ทั้งเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม ทำตลาดเชิงรุก ส่งเสริมโลจิสติกส์ แก้ไขกฎระเบียบติดขัด เจรจาเปิดตลาด และเตรียมพร้อมการค้าขายหลังยุคโควิด-19
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเปิดงาน “อาหารไทย อาหารโลก” ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ว่า ปัจจุบันการส่งออกสินค้าอาหารของไทยขึ้นไปอยู่ลำดับที่ 11 ของโลกแล้ว โอกาสที่จะขึ้นสู่อันดับต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ เพราะภายใต้สถานการณ์โลกที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ที่ไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็ง และล่าสุดสถานการณ์โควิด-19 แต่การส่งออกอาหารของไทยยังเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งหากจะถามว่าอาหารไทยจะพัฒนาขึ้นไปเป็นอาหารโลก มีความเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องตอบตรงนี้เลยว่าเป็นไปได้
         
“ขณะนี้ การส่งออกอาหารของประเทศไทย ยังเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ อาหารทะเลแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่แข็ง แปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส หรืออาหารสัตว์เลี้ยง ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นลำดับที่จะเป็นอันดับ 4 ของโลก"นายจุรินทร์กล่าว
         
นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้อาหารไทย เป็นอาหารโลก มีเหตุผลหลายประการ โดยไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีวัตถุดิบ การแปรรูป และการตลาดไม่แพ้ประเทศใด อาหารไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพมาตรฐาน มีอัตลักษณ์และมีความหลากหลาย มีการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกสมัยใหม่อย่างเช่นมีสมุนไพรเป็นส่วนผสม ผู้ประกอบการมีศักยภาพ และมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต  
         


สำหรับแนวทางการทำงานต่อไป จะผลักดันให้มีการเพิ่มมูลค่าอาหารไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเดินหน้าทำตลาดเชิงรุกด้วยการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่าที่มีอยู่ โดยการทำตลาดจะมีพาณิชย์จังหวัดเป็นเซลส์แมนของจังหวัด และระดับประเทศมีทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนของประเทศ ที่จะร่วมมือกันทำตลาดร่วมกับภาคเอกชนทั้งออฟไลน์และออนไลน์  
         
นอกจากนี้ จะเร่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนและใช้ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการตลาดในประเทศและส่งออก รวมทั้งจะเร่งปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค และเดินหน้าการทำข้อตกลงการค้าทั้งพหุภาคี ทวิภาคี และรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ไทยมีความได้เปรียบทางการค้า ขณะเดียวกัน ต้องเตรียมความพร้อมในการผลักดันอาหารไทย หลังเข้าสู่ยุคหลังวิกฤตโควิด-19 เพื่อผลักดันให้อาหารไทยไปเป็นอาหารโลกต่อไปในอนาคต
         
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ คือ การรักษาคุณภาพ และผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยปฏิรูปภาคการเกษตร ผลักดันให้เกษตรกรก้าวผ่านวิถีชีวิตแบบเดิมๆ เข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ให้ก้าวไปสู่เกษตรกรทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต และยังได้เน้นนโยบายเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหาร และยังจะเดินหน้าต่อ เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
         
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยมีเป้าหมาย 1 สร้าง 3 เพิ่ม คือ สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก และ 3 เพิ่ม คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.เพิ่มจีดีพีให้กับประเทศ 3.เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการทุกระดับ โดยมี 4 พันธกิจ ที่จะทำร่วมกัน คือ 1.สร้าง Single Big Data เพื่อใช้ข้อมูลเดียวกัน 2.สร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”เพื่อใช้ร่วมกัน 3.สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับสินค้าเกษตรและอาหารไทย และ 4.การพัฒนาบุคลากรและผลิตภัณฑ์

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง